ครม.ไฟเขียวขยายเวลา“เราชนะ”อีก 1 เดือน!?!ตั้งเป้ารวม 33.5 ล้านคน เพิ่มงบฯกว่า 3 พันลบ. เตรียมลงทะเบียนเพิ่ม

2099

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการคลังเรื่อง การเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมรายละเอียด “โครงการเราชนะ”  โดยขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงิน ตลอดจนขยายระยะเวลาใช้จ่ายได้  จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นใช้ได้ต่อไปไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ครม. ยังรับทราบแนวทางจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลการทบทวนสิทธิ์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและการกำหนดกรอบระยะเวลารับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งจากประชาชนภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ด้วย 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการฯ จาก กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 33.5  ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 243,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท

โดยให้กรมปัญชีกลางอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามที่ผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯได้ใช้จ่ายจริง เป็นรายวัน โดยวิธีการเบิกจ่ายเงินแทนกัน และกรณีที่กรมบัญชีกลางโอนเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า บริการไม่สำเร็จ ให้ดำเนินการติดตามเพื่อโอนเงินซ้ำภายในวันที่ 24 กันยายน 2564

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าปัจจุบันวงเงินที่เหลืออยู่และสามารถใช้จ่ายเยียวยาประชาชนจากผลกระทบจากโควิด-19 เหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท 2.งบกลางในปี 2564 ซึ่งเดิมมีการตั้งงบกลางฯไว้ในวงเงิน 1.39 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบกลางรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางฯในส่วนโควิด-19 4 หมื่นล้านบาท

 ปัจจุบันงบกลางรายการสำรองจ่ายฯได้ใช้ไปแล้วประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท คงเหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนคืองบกลางฯโควิด -19 คงเหลือ 2 ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดย 2 หมื่นล้านบาทที่ใช้ไปรัฐบาลนำไปใช้มัดจำวัคซีน และอีกส่วนไปเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมแล้วงบกลางฯที่คงเหลือทั้ง 2 ส่วนซึ่งสามารถใช้ได้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท 

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า 

“จากงบกลางฯที่เหลือประมาณ 1 แสนล้านบาท วงเงินที่จะใช้ได้ในการนำไปเยียวยาโควิด-19 ให้กับประชาชนคงอยู่ที่ประมาณ 5 – 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสำนักงบฯต้องขอกันงบกลางบางส่วนไว้รองรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากภัยแล้ง น้ำท่วม หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆประมาณ 4 – 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นโดยรวมแล้วเมื่อดูจากเงินกู้และงบกลางฯที่ใช้ในการเยียวยาประชาชนได้จะอยู่ที่ประมาณ  2.5-2.6 แสนล้านบาท” 

ขณะเดียวกันเตรียมพิจารณา โครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 3 ในรายละเอียดเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่าจะมีแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุน เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานราก เช่น ลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ที่อาจตกงานกว่า 1 ล้านคน ทั้งการขอความร่วมมือเอกชนรับบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงาน ตามโครงการ  “รัฐช่วยจ่าย เอกชนช่วยจ่าย”  หลังจากเปิดโครงการเมื่อปีที่แล้ว จำนวน 260,000 อัตรา ระยะเวลาจ้างงาน 1 ปี ทั้งนี้คาดว่าจะมีข้อสรุปในการประชุมครม.ครั้งต่อไป