จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการเลือกตั้ง องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2564 โดยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ
ซึ่งต่อมา เนติวิทย์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีการเลือกตั้งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯว่า ผมขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ผมและพรรคเข้ามาบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ในภาคการศึกษาหน้า ปีนี้นิสิตจุฬาฯ ออกมาใช้สิทธิ 14,691 คน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี
โดยในการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนน 26,219 จำนวนผู้มาลงคะแนน 14,691 คิดเป็น 56.03 % หมายเลข 1 คือนายเนติวิทย์ ได้คะแนน 10,324 ทิ้งห่าง หมายเลข 2 ที่ได้คะแนน 2,030 ขณะที่ หมายเลข 3 ได้คะแนน 695 โดยมีคะแนนงดออกเสียง งดออกเสียง 1,642
ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คะแนนเสียงของนิสิตจุฬาฯ ที่เลือกนายเนติวิทย์ เข้ามาเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯนั้น เกิดการตั้งคำถามว่า ต่อไปนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับจุฬาฯ เพราะนายเนติวิทย์ ก่อนหน้านี้ได้มีการเคลื่อนไหวที่มีแนวทางเดียวกับม็อบสามกีบ
สำหรับ นายเนติวิทย์ เคยเป็นนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่ สมัยมัธยมฯ เป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยและกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เคลื่อนไหวทางการเมือง สิทธิ มาตั้งแต่สมัยมัธยมฯ เช่นเรื่องทรงนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา รวมถึงวิจารณ์พิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน และการยกเลิกเกณท์ทหาร และเคยได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ในปี 2560 เนติวิทย์และสมาชิกสภานิสิตฯ อีก 7 คนเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญานและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าของนิสิตใหม่ (ชั้นปีที่หนึ่ง) รองอธิการบดีจุฬาฯ สั่งตัดคะแนนความประพฤติ ทำให้เนติวิทย์ขาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตฯ
นอกจากนี้ นายเนติวิทย์ ยังเป็นเพื่อนกับโจชัว หว่อง นักกิจกรรมคนดังของฮ่องกง เคยชวน โจชัว หว่อง มาปาฐกถา ที่จุฬาฯ ก่อนถูกล็อกตัวไม่ให้ออกจากสนามบินเข้าไทย และถูกส่งกลับฮ่องกง และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เวลา เขาได้แสดงพลังสนับสนุนการต่อสู้ของคนไทย ต่อต้านเผด็จการ ที่หน้าสถานกงศุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง และเนติวิทย์ ก็ได้ทวีตข้อความอีกว่า “ประชาชนฮ่องกงออกมาช่วยกระจายข่าวการต่อสู้ของคนไทยให้ทั่วโลกรู้ รวมถึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่นั่นด้วย พวกเราเองก็มาช่วยคนฮ่องกงที่ถูกกดขี่เสรีภาพด้วยกันโดยติด #save12hkyouths รณรงค์และกดดันให้รัฐบาลจีนและฮ่องกงปล่อยตัวเยาวชน 12 คนที่จีนจับตัวอยู่ให้กลับฮ่องกงโดยสวัสดิภาพทันที”
ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 เนติวิทย์ ได้ร่วมรำลึกในโอกาสครบรอบ 31 ปี เหตุการณ์ 4 มิถุนายน ปี 1989 “กองทัพจีนสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน”โดยได้แจกคุกกี้รสชานมที่บริเวณหน้าสถานทูตจีน ตลาดเยาวราช และสถานีรถไฟฟ้าสยาม ซึ่งคุกกี้ที่แจกเป็นรสชานม บ่งบอกนัยถึง กลุ่มพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) กลุ่มไม่เป็นทางการในอินเทอร์เน็ตของประชาชนชาวไทย ไต้หวัน และฮ่องกงที่ต่อต้านการครอบงำของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 นายเนติวิทย์ ยังได้ปลุกกระแสการบอยคอตภาพยนตร์เรื่อง Mulan ที่จะมีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 4 กันยายน 2563 เพื่อประท้วงหลิวอี้เฟย นางเอกของเรื่องที่เคยออกมาสนับสนุนให้ตำรวจฮ่องกงใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วงด้วย
ทั้งนี้ทางด้านของช่อ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ก็ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับนายเนติวิทย์ที่ได้รับการเลือกตั้ง ว่า ขอแสดงความยินดีกับเนติวิทย์และพรรค @ChulaforAll ที่ได้รับชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งอบจ. ได้คะแนนถึงกว่า 70% และเป็นปีที่นิสิตจุฬาตื่นตัวออกมาเลือกตั้งมากที่สุดในรอบหลายปี จากนี้ไปหวังจะได้เห็นนิสิตจุฬาเป็นพลังสำคัญรับใช้ประชาชน ท่ามกลางหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คือวีรกรรมของนายเนติวิทย์ ที่แสดงออกให้เห็นถึงแนวทางการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็น การเรียกร้องให้ออกมายกเลิกกฎระเบียบ รวมไปถึงประเพณี วัฒนธรรมของไทยต่างๆ อย่างเช่น การยืนเคารพธงชาติหน้าเสาธง หรือคัดค้านพิธีถวายสัตย์ ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมของจุฬาฯ ซึ่งมองแล้วแนวทางการเคลื่อนไหวนั้น สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของม็อบสามกีบ ซึ่งการที่นายเนติวิทย์ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯสโมสรนิสิตจุฬาฯ หลายคนมองว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่เยาวชนจะถูกชักจูงหรือนำข้อมูลที่บิดเบือนมาปลุกระดมให้เยาวชนเกลียดชังสถาบันได้