กลายเป็นประเด็นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เมื่อนายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกนักออกแบบ และสมาชิกกลุ่มแคร์ ที่ได้ออกมาทวีตเรื่องเงินเยียวยาพนักงานร้านอาหารของตนเอง
ที่มีพนักงานอยู่ทั้งหมด 20 คน ว่าจะต้องได้เงินจากรัฐบาล ที่มีมาตรการเยียวยาออกมา โดยระบุว่า “วันนี้ติดต่อไปเพื่อรับการเยียวยาธุรกิจ
เขาบอกว่า เพื่อจะขอเยียวยาร้านอาหาร 60,000 บาท (3000 บาท x 20 คน) ต้องจ่ายเงินส่งประกันสังคมที่ค้างอยู่ 180,000 บาทก่อน ถ้าไม่ลำบาก ก็คงจ่ายไปแล้วสิครับ สมทบประกันสังคม สรุปว่าคนจน ก็ต้องจนกันต่อไป #เยียวยาที่ไม่เยียวยา” จนทำให้มีคอมเม้นต์เข้ามาต่อว่ารัฐบาลอย่างมาก ว่าไม่เห็นใจคนเดือดร้อนจริง จ่ายก่อนแล้วค่อยเยียวยาทีหลัง แบบนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าไม่ลำบาก จะมาขอรับเงินเยียวยาหรอ บางคนก็มองว่า ยังมีการให้พนักงานไปสมัครมาตรา 40 ของประกันสังคมก่อน แล้วค่อยเยียวยา ทำไมถึงเป็นแบบนี้
ทั้งนี้อีกมุมมองหนึ่ง มีคนเข้ามาถามนายดวงฤทธิ์ ถึงยอดเงินที่ค้างไว้จำนวน 180,000 บาท ว่า ทำไมถึงไม่ได้จ่ายกับประกันสังคมไป แล้วหักพนักงานทุกเดือนไม่ใช่หรอ นายจ้างต้องจ่ายสมทบอีก หรือแปลว่าไม่ได้จ่าย เราไม่จ่ายประกัน แล้วจะมาร้องขอสินไหมมันได้ด้วยเหรอคะ ลูกน้องแค่ 20 คนเองนะคะ ซึ่งนายดวงฤทธิ์ยังไม่ได้มาตอบถึงประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ร้านอาหารเปิดจำหน่ายแบบให้ซื้อกลับบ้าน งดนั่งทานที่ร้าน ทำให้หลายร้านไม่สะดวกจะเปิดบริการ ต้องหยุดกิจการชั่วคราว โดยสามารถรับเงินเยียวยาตามขั้นตอน ซึ่งทางกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ประกันสังคม จำแนกกลุ่มอาชีพ พร้อมจ่ายเงิน 2,500-5,000 บาท ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน ขยายพื้นที่จากเดิม 6 จังหวัด คือกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพิ่มเติม 4 จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา โดยเป็น 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
เพิ่มประเภทกิจการรวม 9 สาขา จากเดิม 4 หมวดกิจการ ได้แก่
1 .ก่อสร้าง
2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ
4. กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
5. ขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์
6. ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
7. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
8. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ
9. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร