หลังจากเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 ได้มี 279 นักวิชาการและวิชาชีพอื่น ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการตั้งกรรมการสอบสวนนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯต้องปกป้องเสรีภาพและมาตรฐานทางวิชาการ
ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง ปีการศึกษา 2552 เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” โดยเริ่มต้นจากการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งได้ตรวจสอบการอ้างอิงในเล่มวิทยานิพนธ์ดังกล่าว จนร้องเรียนมายังบัณฑิตวิทยาลัย และนำไปสู่การออกคำสั่งระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ การดำเนินการเพื่อถอดถอนปริญญา การตั้งกรรมการสอบแบบปิดลับ การเคลื่อนไหวโจมตีของสมาคมและเครือข่ายต่าง ๆ
อาทิ สถาบันทิศทางไทย กลุ่มจุฬาฯพิทักษ์ธรรม มาจนกระทั่งการฟ้องร้องคดีแพ่งของตัวแทนราชสกุลรังสิต ต่อนายณัฐพลผู้เขียน รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันผู้ตีพิมพ์เผยแพร่
นักวิชาการ 239 คน นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 25 คน และบุคคลในสาขาอาชีพอื่นอีก 15 คน ดังมีรายชื่อข้างท้ายจดหมายฉบับนี้รู้สึกกังวลใจอย่างยิ่งกับการดำเนินการตั้งแต่ต้นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขอเสนอข้อคิดเห็นประกอบการพิจารณาและตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้มีอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. ความบริสุทธิ์ใจและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้เขียน
2. น้ำหนักของความผิด และผลกระทบต่อข้อเสนอของงานวิจัย
3. เสรีภาพทางวิชาการ
พร้อมทิ้งท้ายในจดหมายว่า นักวิชาการที่ดีต่างรู้ดีว่าความผิดพลาด ในงานวิชาการเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ และไม่ถือเป็นการละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ หากไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอย่างเช่นการโจรกรรมหรือลักลอกงานวิชาการ (plagiarism) การสร้างข้อมูลหรือผลการทดลองที่ไม่มีอยู่จริง หรือการบิดเบือนแก้ไขผลการทดลองเพื่อสนับสนุนสมมุติฐานของงานวิจัย ด้วยเหตุนี้ ความผิดพลาดอื่นใดในการอ้างอิง การอ่านตีความหลักฐาน หรือการใช้เหตุผล จึงต้องไม่นำไปสู่ความผิดทางวินัยและอาญาใด ๆ การตรวจสอบความผิดพลาดดังกล่าวพึงกระทำด้วยมาตรการทางวิชาการ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์และการโต้เถียงทักท้วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ควรละเมิดมาตรฐานและจรรยาบรรณนี้ เพราะนั่นจะนำความเสื่อมเสียมาสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสายตาประชาคมทางวิชาการไทยและสากล
อาศัยเหตุอันได้แสดงมาโดยลำดับ พวกเราจึงขอเรียนมายังท่านเพื่อโปรดพิจารณายุติการสอบสวนกรณีวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง เพื่อธำรงเกียรติภูมิแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ
ต่อมาทางเพจเฟซบุ๊กของ สถาบันทิศทางไทย ได้นำเสนอรายชื่อของอาจารย์ ทั้ง 279 คน ปรากฎว่า ได้มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ติดต่อเข้ามาผ่านแชท ระบุว่า ตนเองถูกแอบอ้างชื่อเป็นอาจารย์ และในรายชื่อที่ 175 อาจารย์ธิติมา ทองศรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งว่า มีคนแอบอ้างชื่อ ได้รับการยืนยันแล้ว ขอให้ทางเพจลบข้อมูลส่วนนี้ออก
และจากการสืบค้นของสถาบันทิศทางไทย ทำให้ทราบว่า บุคคลดังกล่าว ได้ลงชื่อจริง แต่ไม่ได้มีเอกสารตามที่ลงไว้ในจดหมายเปิดผนึก ทั้งนี้คาดว่า ยังมีรายชื่ออีกหลายคนที่ไม่ได้มีตำแหน่งจริง ๆ อย่างที่ลงในรายชื่อทั้งหมดไว้ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า 279 นักวิชาการที่ได้อ้างถึงนั้น มีหลายคนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการ เพียงแต่นำข้อมูลเท็จมาหลอกลวง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว