ส.ส.โรม ออกโรง!! ขู่เรียก ปธ.ศาลฎีกามาแจง ไม่ให้ประกันแก๊งหมิ่นสถาบัน อ้างไม่หนี โดนบีบให้สารภาพ

2810

จากกรณีในโลกโซเชียลฯ มีการแชร์ข้อมูลพาดพิงถึงการประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ระบุทำนองที่ประชุมศาลวุ่น ไม่ไว้วางใจประธานศาล ไม่ไว้ใจในกระบวนการยุติธรรมขณะนี้ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการประกันตัวคดีความผิดตาม ป.อาญา ม.112 นั้น

ต่อมานายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องการคดี 112 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งพูดในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า เรื่องคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำม็อบ ยังไงก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีพฤติการณ์จะยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน จะไม่ให้ปล่อยตัวได้อย่างไร

ประธานศาลฎีกาตอบว่า “มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที”

ผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกรายหนึ่ง ก็ตอบโต้ว่า “ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรตุลาการ ถ้าคนที่เป็นประธานศาลฎีกายังพูดได้ว่า มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที แล้ว ต่อไป ศาลยุติธรรมคงดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ และถ้าประธานศาลฎีกาปล่อยให้บุคคลภายนอกมาสั่งบงการ ก็น่าจะมีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตรวจสอบวินัยว่า คนแบบนี้ยังสมควรเป็นประธานศาลฎีกาอยู่อีกหรือไม่” เรื่องก็มีเพียงเท่านี้ ไม่มีการโหวตใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการชูสามนิ้ว

ล่าสุดทางด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่าจากกรณีที่มีการพูดคุยอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ อ้างถึง การประชุมใหญ่ในศาลฎีกา โดยมีผู้สอบถาม เหตุใดถึงไม่ให้ประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพราะผู้ถูกคุมขังไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ประธานศาลฎีกา กลับระบุ มีบุคคลภายนอกสั่งมา แม้ในเวลาต่อมาโฆษกศาลยุติธรรมจะออกมาชี้แจง เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง

แต่ก็เป็นการตอบที่สั้นเกินไป ไม่มีการอธิบายรายละเอียดเพียงพอ และเรื่องนี้อาจทำให้เกิดการถกเถียง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ในฐานะ ส.ส.ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบทุกดุลอำนาจ รวมทั้งศาลว่า ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระหรือไม่ จึงได้นำประเด็นนี้ได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนขอให้เชิญประธานศาลฎีกาหรือตัวแทนมาให้ความเห็นและชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ เบื้องต้นท่าทีโดยรวม ยังไม่มีใครปฏิเสธ ต่างเห็นว่าเป็นประเด็นใหญ่ และเรื่องนี้ยังเป็นโอกาสดี ถ้าศาลจะมาชี้แจงจนสิ้นข้อสงสัย

นายรังสิมันต์โรม กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องนำหารือต่อกรรมาธิการฯ อีกครั้ง เพราะกรรมาธิการฯ ยังไม่มีมติว่าจะรับหรือไม่รับ จะมีการพิจารณาเรื่องของผมในวันที่ 1เม.ย. คงต้องติดตามกันต่อไป  เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจกับสังคม และเป็นโอกาสอันดีหากศาลชี้แจง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ต่อความเป็นอิสระของศาล หากประชาชนไม่เชื่อถือก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมได้

นายรังสิมันต์ เผยหลังแถลงข่าวอีกว่า ได้ไปเยี่ยมแกนนำกลุ่มราษฎรในเรือนจำ ได้พบกับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้สนทนากันเล็กน้อย ได้ทราบถึงความเป็นอยู่ ได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ตามมาตรฐานของเรือนจำเหมือนกับผู้ถูกคุมขังอื่นๆ ขณะเดียวกันยังได้พูดคุยกับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตนสอบถามถึงวิธีการคุมตัวผู้ต้องขังไปขึ้นศาลว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จึงต้องยืนอยู่ในระยะประชิด จึงเสนอไปว่า ขอให้อยู่ในระยะสายตาได้หรือไม่ เนื่องจากบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องได้ยินการสนทนาระหว่างผู้ต้องหากับญาติใกล้ชิดที่เป็นเรื่องส่วนตัว

โดยรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือ ส่วนกรณีของนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน ทาง กรมราชทัณฑ์เองมีความกังวลว่า เนื่องจากสภาพร่างกายของนายพริษฐ์ อ่อนแอจากการอดอาหาร ส่วนตัวมองว่าราชทัณฑ์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุมขัง ขอให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิ์การประกันตัวออกมา เพราะเมื่อได้รับการประกันตัว ไม่ได้หมายความว่าข้อกล่าวหาต่างๆจะหมดไป ยังต้องมาสู้คดีกันต่อ ส่วนใหญ่จากที่เห็นนั้นผู้ได้รับการประกันตัวก็ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือขอลี้ภัย จากประสบการณ์ส่วนตัวเคยเห็นผู้ต้องขังที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน สุดท้ายยอมรับสารภาพแต่ไม่ใช่เพราะยอมรับว่ากระทำผิด เพียงแต่กระบวนการทำให้ต้องยอมจำนน แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาหรือไม่