ปีทองข้าวหอมมะลิไทย!?!4 ประเทศกำลังซื้อสูงซื้อข้าวหอมมะลิไทยเพิ่ม ร้อยละ 14-21% พระเอกตัวจริงสินค้าเกษตรส่งออก

2909

และแล้วข่าวดีของคนไทยก็มีมาให้ชื่นใจอีกครั้ง เมื่อข้าวหอมมะลิไทยมีแววรุ่งในปี 2564นี้ เป็นผลจากการทวงแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลกของปี 2563 และตลาดกำลังซื้อสูงให้การตอบรับ เป็นเช่นนี้คนไทยเรายิ่งต้องช่วยกันปลูก ช่วยกันกิน ช่วยกันซื้อข้าวไทยให้มากๆ สำหรับข้าราชการ-นักการเมือง-ภาคเอกชนก็ต้องช่วยกันส่งออกไปขายให้ระบือลือโลกเลยยิ่งดี แต่ไม่เอาแบบรัฐบาลก่อนๆที่ทำให้คนไทยต้องเป็นหนี้เพราะ โครงการจำนำข้าว กว่า 7 แสนล้านบาท ต้องก้มหน้าก้มตาใช้หนี้กันไป 16 ปี และก็เห็นแล้วว่าผลของการทุจริตคอรัปชั่นก่อความเสียหายกับประเทศชาติ ชาวนาและตัวคนทำอย่างไร? 

เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ข้าวหอมมะลิของประเทศไทยได้รับรางวัล ข้าวที่ดีที่สุดในโลก  หรือ “World’s Best Rice Award 2020” จากการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดเป็นประจําทุกปีในงานประชุมข้าวโลก หรือ World Rice Conference ครั้งที่ 12 จัดโดย The Rice Trader สหรัฐอเมริกา ทำให้ข้าวของไทยกลับมาเป็นที่จับตามองจากนานาประเทศอีกครั้ง แล้วก็ไม่ผิดหวัง เมื่อปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบไตรมาสแรกของปี 2564 แต่เป็นข้าว เกรดพรีเมี่ยมที่ไม่ต้องแข่งขันราคา ข้าวหอมมะลิจึงกลายเป็นสินค้าชูโรงในหมู่สินค้าข้าวชนิดอื่นๆ เช่นข้าวนึ่ง ข้าวขาว ข้าวเหนียว เป็นต้น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2564 ภาพการส่งออกข้าวของไทยน่าจะสามารถประคองตัวต่อไปได้ที่ราว 5.8-6.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3-4.8  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของความต้องการข้าวทั้งหมดในตลาดโลกที่ร้อยละ 1.7 โดยมีตัวผลักดันจากข้าวหอมมะลิที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการเติบโตได้เป็นอย่างดีอยู่ที่ 0.54-0.56 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7-14.8 จนสามารถผลักดันให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดโลกอยู่ที่ 1.3-1.35 ล้านตัน หรือเติบโตได้ถึงร้อยละ 9.3-13.5 

ขณะที่ตลาดข้าวประเภทอื่น เช่น ข้าวขาว ข้าวนึ่ง คาดว่าอาจทำได้เพียงมีการเติบโตเท่ากับความต้องการข้าวทั้งหมดในตลาดโลกเท่านั้น ไทยจึงอาจจะยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดข้าวประเภทอื่นได้ ดังนั้น ข้าวหอมมะลิจึงน่าจะเป็นตลาดที่ไทยทำได้ดีที่สุดหรือมีความสามารถในการแข่งขันส่งออกมากที่สุด และเป็นตลาดพรีเมียมที่ไม่ได้แข่งขันด้านราคา  ซึ่งจะทำให้ไทยยังคงประคองตัวเลขการส่งออกข้าวไว้ได้มากกว่าปีก่อนและสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวในโลกไว้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราวร้อยละ 12.8      

แม้การส่งออกข้าวของไทยในปี 2564 จะยังสามารถประคองตัวได้ตามเป้าหมาย ด้วยแรงหนุนจากปัจจัยบวกคือ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นจากการเข้าสู่วงรอบของลานีญา ทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่า การส่งออกข้าวไทยจะยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องจากปีก่อน แม้จะที่ดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ทั้งในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายบ้าง  รวมถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่น่าจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าปีก่อน และ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทำให้การส่งออกข้าวไทยยังเติบโตได้ในกรอบที่จำกัด

อีกเสียงหนึ่งที่ทำให้เรามั่นใจในสถานการณ์ที่ดียิ่งของข้าวหอมมะลิไทยคือ

คุณนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยว่า ข้าวหอมมะลิไทยยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ดี แม้มีราคาสูงกว่าคู่แข่งและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกคุณนนทิชาอธิบายว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยัง 4 ตลาดสําคัญ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวม กว่า 50% ของการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ และฮ่องกง” 

“นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปยังตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น 10.46% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.69% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของข้าวหอมมะลิไทยที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดข้าวพรีเมี่ยมที่มีกําลังซื้อสูง และต้องอย่าลืมว่าชาวต่างชาติทุกคนไม่ได้ชอบกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิไทย บางประเทศก็นิยมรับประทานข้าวนุ่มแบบไม่มีกลิ่น ซึ่งทำให้ข้าวไทยสายพันธ์อื่น ๆ ก็มีความสำคัญต่อการส่งออกไม่แพ้กัน”

ส่วนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์สถานการณ์ส่งออกข้าวโดยรวมของปีนี้เอาไว้ว่า

  1. การส่งออกข้าวปี พ.ศ. 2564 มีแนวโน้มส่งออกข้าวสูงกว่าปี พ.ศ. 2563
  2. ประเมินว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 6 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 6.5-7 ล้านตัน ก่อนหน้านี้
  3. ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้การส่งออกปี พ.ศ. 2564 ขยายตัวมาจากแนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียวของคู่แข่งที่ปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าผู้นําเข้าข้าวจะหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น
  4. แนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิไทยจะลดลงมาอยู่ที่กว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวขาวจะลดลงมาจากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ 495 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม ราคาจะต่างกันอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเชื่อว่าโอกาสในการส่งออกข้าวน่าจะมีสูงขึ้น

มาดูกระบวนท่าของกระทรวงพาณิชย์เรื่องข้าวกันว่า ปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งเรื่องข้าวของไทยเราอย่างไร?

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมทิศทางตลาดข้าวไทยปี 2564 ภายหลังการประชุมก็ได้ข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับเป้าการส่งออกและทิศทางตลาดข้าวไทยปี64 คือ 

-ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 6 ล้านตัน จากปีที่แล้วส่งออกข้าว 5.7 ล้านตัน

 -เน้นตลาดสำคัญ 3 ตลาด คือ 1.ตลาดพรีเมียม 2.ตลาดทั่วไป 3.ตลาดเฉพาะ โดยตลาดพรีเมียมนั้นเน้นข้าวหอมมะลิกับข้าวหอมไทย ข้าวหอมมะลิตั้งเป้าขยายตัว ร้อยละ 4.8 ข้าวหอมไทยร้อยละ 5.2 ตลาดทั่วไปนั้นเน้นข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยข้าวขาวตั้งเป้าร้อยละ 4.7 ข้าวนึ่งร้อยละ 4.9 ส่วนตลาดเฉพาะ เน้นข้าวเหนียว ข้าวกล้องและข้าวสี โดยข้าวเหนียวตั้งเป้าขยายตัว 3.6% ข้าวกล้องและข้าวสีตั้งเป้าขยายตัว 12.5%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า มีตลาดที่เราประสบความสำเร็จในการสร้างอัตราการขยายตัวได้สูงมาก คือ ตลาดแคนาดา ทีมเซลล์แมนประเทศที่โตรอนโตประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เปิดตลาดข้าว เพิ่มการนำเข้าข้าวไปแคนาดาจากปี 62  คือ 80,000 ตัน เป็น 120,000 ตันในปี 63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21โดยมีกลยุทธ์หลัก เช่น มุ่งเน้นการขายข้าวไทยออนไลน์ไปยังผู้บริโภคและตัวแทนค้าส่งที่สำคัญ ทำประชาสัมพันธ์ข้าวไทยไม่ต้องรับประทานแบบวิถีไทยเท่านั้น สามารถนำไปประยุกต์กับอาหารพื้นถิ่นของแคนาดาได้เช่นทำสลัดข้าว เป็นต้น และทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนสอนทำอาหารในประเทศแคนาดาและโปรโมทข้าวไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแคนาดา ประชาสัมพันธ์ว่าข้าวไทยเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ มีน้ำตาลต่ำ โดยคนแคนาดามีน้ำตาลในเลือดสูงถึงร้อยละ 28 เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นของประเทศที่แคนาดา

ทั้งหมดนี้เป็นความร่วมแรงร่วมใจของชาวนาไทยภาครัฐและภาคเอกชน ที่ช่วยกันผลักดันสถานะข้าวไทย ให้กลับมายืนหนึ่ง แม้วันนี้ยังไม่บรรลุผลเต็มร้อย ในทุกๆตลาดทุกๆปรเภทของข้าว แต่ไม่มีอะไรยากเกินที่จะทำ เพราะข้าวคือชีวิตของคนไทย ถ้าคนไทยตั้งใจอย่างจริงจัง สู้เค้าได้ทุกสนาม สู้ให้เต็มที่!!