แม่บุกร้องย้ายกวิ้นนอนรพ.หรู อ้างอดข้าวทำเพลีย ขณะศาลยกคำร้องชี้ทำไม่ได้

9704

จากที่วานนี้ (29 มี.ค. 64) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.287/2564 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กับพวกรวม 22 คน แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร เป็นจำเลย

ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ป.อาญา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่น ๆ จากกรณีร่วมกันชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ – สนามหลวง

สำหรับนายพริษฐ์ ซึ่งอดอาหารประท้วงภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พร้อมแพทย์คุมนายพริษฐ์มาบนรถเข็นพร้อมสายน้ำเกลือ มีสีหน้าอิดโรย แต่ยังชู 3 นิ้ว ให้สื่อและญาติที่มาร่วมฟังการพิจารณาคดี

โดยทีมทนายความได้แถลงศาลขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่เพิ่งคัดถ่ายเอกสาร ทางทนายยังไม่ได้อ่านและรับวัตถุพยาน ขอโอกาสให้จำเลยสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงขอเลื่อนออกไปก่อน ด้านอัยการโจทก์ไม่คัดค้าน จำเลยทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 8 เม.ย. นี้ เวลา 9.00 น.

นายพริษฐ์อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวเข้าวันที่ 15 แล้ว นับตั้งแต่เขาประกาศอดอาหารเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ผ่านมา หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 โดยศาลปฏิเสธให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 แม้จะมีการยื่นประกันตัวถึง 5 ครั้ง นอกจากนี้ หลังการแถลงต่อศาลถึงความอยุติธรรมที่เขาได้รับและประกาศอดอาหารในห้องพิจารณาคดี ยังถูก ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา กล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาล และลงท้ายด้วยศาลมีคำสั่งให้จำคุก 1 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 15 วัน ก่อนพิจารณาให้กักขัง 15 วัน แทนโทษจำคุก และมีการนำตัวไปกักขังที่สถานกักขังกลางปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 64

ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นางสุรีย์รักษ์ ชิวารักษ์ แม่นายพริษฐ์ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ ขอให้ย้ายที่กักขังนายพริษฐ์จากสถานกักขังกลางปทุมธานีไปโรงพยาบาลพระรามเก้า หลังจากที่แม่ได้รับแจ้งจากสถานกักขังกลางปทุมธานีว่า นายพริษฐ์อ่อนเพลีย ไม่มีแรง สภาพร่างกายทรุดโทรมอย่างมาก อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต

คำร้องที่แม่นายพริษฐ์ยื่นต่อศาลมีเนื้อหาว่า เนื่องจากเมื่อวานนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งจากสถานกักขังกลางปทุมธานีว่าขณะนี้พริษฐ์มีสภาพร่างกายทรุดโทรมอย่างมากและมีอาการที่น่าวิตกจนอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตซึ่งสภาพของสถานกักขังกลางอาจไม่สามารถดูแลได้

และเนื่องจากพริษฐ์เคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างถูกกักขัง แต่ศาลไม่อนุญาต ซึ่งพริษฐ์มีความประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ลงโทษดังกล่าว และประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ในขณะนี้ซึ่งมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับสุขภาพของพริษฐ์ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้ขอศาลมีคำสั่งในวันนี้ให้ส่งตัวพริษฐ์ไปกักขังที่โรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งพริษฐ์มีประวัติการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อรักษาชีวิตของพริษฐ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด

ต่อมาในเวลาประมาณ 17.00 น. วันเดียวกันนั้น ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องเรื่องขอให้ย้ายที่กักขังเพนกวิน โดยผู้พิพากษา นาง เมตตา ท้าวสกุล โดยให้เหตุผลประกอบว่า

“ตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2506 หากผู้ต้องกักขังเจ็บป่วยและเข้าสถานพยาบาลในสถานกักขังแต่ไม่อาจทุเลาได้ เป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่จะอนุญาตให้ผู้ต้องกักขังไปรักษาตัว ณ สถานที่อื่น และกรณีที่มีเหตุอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องกักขัง เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์มีอำนาจสั่ง

“เหตุที่ผู้ร้องกล่าวมาจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งได้ ส่วนกรณีที่อยู่ในอำนาจศาลที่จะสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 24 วรรคท้าย การที่ศาลจะส่งให้ไปกักขัง ณ สถานที่อื่น เนื่องจากการกักขังอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ต้องกักขัง ต้องปรากฏว่า ผู้ต้องโทษกักขังจะได้รับอันตรายจากการกักขังดังกล่าว เมื่อศาลไม่ได้รับหนังสือจากสถานที่กักขังแจ้งเหตุดังกล่าว และผู้ร้องไม่ได้แสดงพยานหลักฐานว่า ผู้ต้องโทษกักขังจะได้รับอันตรายตามคำร้อง อีกทั้งไม่ปรากฏว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงพยาบาลพระราม 9 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ร้องจะประสงค์ย้ายผู้ถูกกล่าวหาไปกักขัง ยินยอมที่จะรับผู้ถูกกล่าวหาไปกักขัง ณ สถานที่ดังกล่าว ให้ยกคำร้อง”

สำหรับนายพริษฐ์ นั้น โดนคดีมาตรา 112 ไปแล้วกว่า 18 คดี คุกเบื้องต้นอย่างน้อยที่สุด 54 ปี และสุงสุด 270 ปี หากศาลตัดสินว่าผิดจริง จากกรณีดังกล่าวนี้เองจึงมีคำถามตามมาว่า เมื่อนายพริษฐ์ทำผิดหลายครั้ง แล้วยังจะสามารถออกไปนอนรักษาตัวตามที่แม่ยื่นคำร้องได้หรือ?

อย่างไรก็ตาม ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” กฎหมายไทยสมัยใหม่บรรจุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2453), มีการเพิ่มให้การ “ดูหมิ่น” เป็นความผิด และเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และมีการเพิ่มโทษครั้งล่าสุดในปี 2519 มีสื่ออธิบายว่าเป็น “กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่รุนแรงที่สุดในโลก” และ “อาจเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาที่เข้มงวดที่สุดไม่ว่าที่ใด” นักสังคมศาสตร์ ไมเคิล คอนนอส์เขียนว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว “เป็นผลประโยชน์ของราชสำนักเสมอมา”