สถานทูตสหรัฐ แถลงการณ์ ยอมรับแม่แกนนำม็อบติดคุกเข้าพบอุปทูต หลังจนท.ทูตUSAโผล่ศาลนั่งดูเพนกวินอาละวาดผู้พิพากษา?

6667

สืบเนื่องจากกลุ่มคณาจารย์ นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย รวมถึงแม่ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฏร” ที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ได้แก่ นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

และ นางพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เข้าพบและยื่นหนังสือต่ออุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

ล่าสุดวันนี้ (19 มี.ค. 2564) ฝ่ายสื่อมวลชน และวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ระบุว่า ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ไมเคิล ฮีธ พบกับมารดาของนักเคลื่อนไหว 3 คนที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ โดยเป็นการพบปะกันตามคำขอของพวกเธอ ซึ่งได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับบุตรของพวกเธอ

อุปทูตฮีธ และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนอื่น ๆ ได้พบปะกับชาวไทยในหลากหลายภาคส่วนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหาร นักธุรกิจ นักวิชาการ หรือผู้นำเยาวชน ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมาย ความกังวล และประเด็นที่ชาวไทยให้ความสำคัญ การพบปะกันเช่นนี้สะท้อนถึงงานหลักของเจ้าหน้าที่การทูต อันได้แก่ การแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองที่กว้างขวางในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และอื่น ๆ ของพลเมืองในประเทศที่ประจำการอยู่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น จากกรณี นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำคณะราษฎร ได้ลุกขึ้นพูดถึงศาลถึงความอึดอัดที่อยู่ในใจ แต่ศาลไม่อนุญาตให้พูดในที่เปิดเผย จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัว จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น เพนกวินจึงประกาศความอึดอัดใจว่าเหตุใดศาลไม่ให้ประกันตัว ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของเพนกวิน น่าจะมีการเตรียมการมาแล้ว เพื่อทำลายศาล นอกจากนี้ ยังมีผู้สังเกตการณ์สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ กว่า 14 ประเทศ สลับการเข้าร่วมฟังการพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนตั้งขอสังเกตว่า ใครเป็นผู้อนุญาตให้เข้าไปและใครเป็นคนเชิญบุคคลกลุ่มนี้เข้าห้องพิจารณาคดี

โดย ในการพิจารณาคดีตลอดทั้งวัน ที่มีผู้สังเกตการณ์สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ กว่า 14 ประเทศ สลับการเข้าร่วมฟังการพิจารณาได้แก่ สหภาพยุโรป, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรเลีย , อังกฤษ, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, ลักเซมเบิร์ก, สวีเดน, นิวซีแลนด์ และ สหรัฐอเมริกา

สำหรับ นายไมเคิล ฮีธ ดำรงตำแหน่งอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นข้าราชการการทูตอาวุโสประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ก่อนหน้านี้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2559-2562 และดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย พ.ศ. 2556-2559

เคยทำงานเกี่ยวกับการประชุมหารือด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน (U.S.-China Strategic & Economic Dialogue) ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงปักกิ่ง

นอกจากนี้ ยังเคยรับราชการที่เมืองดาร์-เอส-ซาลาม ประเทศแทนซาเนีย รวมทั้งเคยประจำการที่สำนักงานกิจการแอฟริกาและดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประเทศอินโดนีเซียที่สำนักงานกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยเป็นชาวเมืองลอสแอนเจลิสแต่ไปเติบโตที่ประเทศอังกฤษและเบลเยี่ยมก่อนที่จะกลับไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียที่ซึ่งท่านสำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Stanford University