พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความระบุว่า ได้ลงนามในประกาศการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในราคาสูงสุดไม่เกิน 104 บาท มีผลบังคับใช้วันที่ 16 ก.พ.นี้ ผู้โดยสารที่ใช้บริการต่างโพสต์แสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก
บ้างบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะการปรับค่าโดยสารครั้งนี้ อัตราสูงสุดเพียงเที่ยวเดียวก็คิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละวันแล้ว แต่ก็มีผู้โดยสารบางคนบอกว่าราคานี้ยังพอรับได้ เมื่อเทียบกับเรื่องของระยะทางและระยะเวลาในการเดินทาง แต่หากปรับลดลงได้ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ทางออกสำหรับเรื่องอัตราค่าโดยสาร นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรองอดีตรองผู้ว่ากรุงเทพฯ เสนอว่า ค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถทำให้ถูกกว่า 65 บาทได้ หากรัฐบาลรับภาระหนี้ประมาณ 68,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องชำระภายในปี 2572 แทน กทม. หรือ กทม.รับผลตอบแทนจากบีทีเอสลดลงเหลือน้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารจ่ายค่าโดยสารแพง และต้องไปเปรียบเทียบดูสัญญาร่วมทุนที่คมนาคมทำกับผู้บริหารบีอีเอ็ม และสัญญาร่วมทุนที่กทม.ทำกับบีทีเอส ว่าเงื่อนไขต่างกัน ทำให้ต้นทุนบริหารต่างกันอย่างไร ต้องแก้ไขให้ตรงจุดไม่เช่นนั้นก็จะวนกลับมาที่เดิม
ล่าสุดกรมการขนส่งทางราง โดยนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)ร่อนหนังสือถึง กทม. ขอนัดถกค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายในสัปดาห์นี้ พร้อมขอให้เลื่อนปรับราคาจากวันที่ 16 ก.พ.นี้ ออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปราคาที่ถูกสุด คาดว่าก็ต้องรอการประชุมระหว่างคมนาคม มหาดไทย กทม.อยู่ดีเพราะเป็นต้นทางปัญหา
ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างการนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม.ได้ ซึ่งประกอบด้วย
ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายสำโรง-เคหะและห้าแยกลาดพร้าว-คูคตจากรฟม.ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาทและภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
ค่าลงทุนงานในระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายสำโรง-เคหะ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ประมาณ 20,000 ล้านบาท
ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่ายอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท และ
ภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564-2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา กทม.ยืนยันว่าภายใต้อำนาจของ กทม.จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม.จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารให้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลดลงมาเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด