สหรัฐนำทีม ‘ควอด’!?! ดันการทูตวัคซีนแข่งจีน เร่งผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 แจกอาเซียน 1 พันล้านโดสภายในปี’65

1918

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐและพันธมิตรในการคานอำนาจและต่อต้านอิทธิพลจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ปธน.ไบเดนยังยึดนโยบายอินโด-แปซิฟิกต้านจีนเหมือนสมัยอดีตปธน.ทรัมป์ เพียงแต่เป็นไปอย่างต่อเนื่องชัดเจนมาขึ้น ล่าสุดนอกจากสร้างกลุ่มจตุภาคีหรือกลุ่ม ‘ควอด’ (QUAD) พันธมิตรทางความมั่นคงและการทหารในภูมิภาคแล้ว  ยังขยายบทบาท การแข่งขันทางการผลิตวัคซีนต้านโควิดในระดับโลกด้วย ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศอินเดียเปิดเผยว่าเหล่าสมาชิก QUAD ที่มี สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นเห็นชอบระดมพลังเตรียมผลิตและจัดส่งวัคซีนโควิด 1 พันล้านโดสทั่วเอเชียภายในปี 2565

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน นายฮาร์ช วาร์ดัน ชริงลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย  ว่า กลุ่มจตุภาคี  (Quad) อันประกอบด้วยสหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ต้องการเพิ่มการฉีดวัคซีนทั่วโลก รับมือกับการทูตวัคซีนของจีนที่เพิ่มขึ้นมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

ในกลุ่มนี้อินเดียเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลก รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียกล่าวหลังการประชุม 4 ฝ่ายทางออนไลน์ว่า นี่เป็นความร่วมมือที่น่าประทับใจและทรงคุณค่าที่สุด ทั้งนี้ทั้ง 4 ประเทศเห็นพ้องกับ แผนการระดมทรัพยากรทางการเงิน ขีดความสามารถในการผลิต ความแข็งแกร่งด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทางการอินเดียเชื่อว่าจะเร่งกระบวนการฟื้นตัวหลังโควิด ทำให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ได้ 

การประชุมสุดยอดครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ภาคี 4 ประเทศเห็นว่า ความสัมพันธ์กับจีนตกต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา โดยกองทัพจีนปะทะกับกองกำลังของอินเดียในบริเวณชายแดนด้านภูเขาหิมาลัย จนมีทหารเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย จีนขยายกิจกรรมใกล้หมู่เกาะที่ญี่ปุ่นอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ และใช้มาตรการคว่ำบาตรสินค้าจากออสเตรเลียหลังเกิดข้อพิพาทหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนายไบเดน ให้ระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้กลุ่ม QUAD แสดงออกพุ่งเป้าไปที่จีนอย่างชัดเจน โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่ากลุ่มควอดจะไม่เน้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จีนก็เป็นประเด็นจะมีการหารือด้วย

ในโอกาสนี้ อินเดียจะใช้ความสามารถในการผลิตทำวัคซีนของสหรัฐ โดยใช้เงินทุนจากสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (ไอดีเอฟซี) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก)  ส่วนออสเตรเลียจะให้เงินสนับสนุนการฝึกอบรมและการกระจายวัคซีนขั้นสุดท้าย ซึ่งจะส่งไปถึงหมู่เกาะแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในมหาสมุทรอินเดีย

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้อาจมีปัญหาจากข้อจำกัดการส่งออกของสหรัฐ ต่อวัตถุดิบสำคัญสำหรับซัพพลายเชนวัคซีนของอินเดีย นายชริงลา กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องระหว่างอินเดียกับสหรัฐ ที่ทูตอินเดียประจำกรุงวอชิงตันยกขึ้นมา รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียระบุด้วยว่า เป็นประเด็นสำคัญมาก พร้อมเสริมว่า โครงการของกลุ่มภาคีทั้ง 4 จะไม่กระทบกับการผลิตวัคซีนสำหรับประชากรอินเดีย 1.4 พันล้านคน

กลุ่มจตุภาคีด้านความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ Quad ร่วมมือผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 พันล้านโดส หนึ่งในยุทธศาสตร์ต้านจีน ที่สหรัฐมองว่าจีนพยายามรุกแผน “การทูตผ่านวัคซีน” ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในช่วงเวลานี้

ที่ประชุมจตุภาคีด้านความมั่นคง ในวันศุกร์ที่ 11 มี.ค.2564 ประกอบด้วยปธน.โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และผู้นำอีก 3 ประเทศสมาชิก ในได้แก่ นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ แห่งญี่ปุ่นนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ แห่งอินเดีย ร่วมหารือระดับผู้นำอย่างเป็นทางการครั้งแรกแบบออนไลน์

ภายใต้แผนรุกผลิตวัคซีน ของกลุ่ม Quad จะเน้นการสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อรุกการผลิตวัคซีนโควิดผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ที่ตั้งเป้าผลิตและแจกจ่ายวัคซีนโควิด 2 พันล้านโดสให้กับ 94 ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง

ขณะที่รัฐบาลจีน นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ระบุเมื่อเดือนพ.ค.2563ว่า วัคซีนโควิดที่ผลิตจากจีน จะเป็น “สินค้าสาธารณะ” และนับแต่นั้นจีนได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนราว 500 ล้านคน จาก 45 ประเทศทั่วโลก ตามข้อมูลของ Associated Press ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า จีนพยายามใช้การทูตผ่านวัคซีนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ 

หลังการประชุมจตุภาคีความมั่นคงแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน และรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ออสติน ลอยด์ มีกำหนดการเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในสัปดาห์หน้า จากนั้นรัฐมนตรีกลาโหมลอยด์ จะเดินทางไปเยือนอินเดีย ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศบลิงเคน จะหารือกับจีนที่รัฐอแลสกา ในวันที่ 18 มี.ค.นี้

 

มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูกะ จะเป็นผู้นำคนแรกของโลกที่เดินทางมาพบปะแบบตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีไบเดน ที่ทำเนียบขาว ในช่วงสัปดาห์หน้า

จตุภาคีด้านความมั่นคง หรือ Quad ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาในรูปแบบพันธมิตรทางการทหาร ที่เคยพบเห็นทั่วไปในการคานอำนาจด้านกองทัพและอิทธิพลด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่ง แต่ในการหารือในระดับผู้นำของทั้ง 4 ชาติสมาชิก ที่ใช้เวลาร่วม 90 นาทีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 หลังเหตุสึนามิในอินโดนีเซียที่ระดับผู้นำได้มาประชุมกัน และมีฉันทามติร่วมในการขยายบทบาทร่วมมือทางการแข่งขันวัคซีนโลกด้วย

ด้านชีล่า เอ. สมิธ ผู้เชี่ยวชาญจาก Council on Foreign Relations ประเมินว่า การหารือครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับบทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคไบเดน ต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไบเดนให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน

ในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เดินทางเยือนเวียดนามเมื่อปี ค.ศ. 2017 สะท้อนมุมมองของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงทางทะเลและการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน จะเน้นเรื่องความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อรับมือกับโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 และแน่นอนแม้ไม่ระบุในคำแถลงแต่ เมื่อยืนยันนโยบายอินโด-แปซิฟิกก็หมายความว่าต้านจีนนั่นเอง

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ของสหรัฐแถลงหลังจากผู้นำกลุ่มควอดประชุมสุดยอดครั้งแรกวานนี้ ตามเวลาสหรัฐว่า อินเดียจะเร่งผลิตวัคซีนโควิดอีกอย่างน้อย 1,000 ล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า เป็นความร่วมมือกับสหรัฐ ญี่ปุ่นและออสเตรเลียสร้างพันธกรณีครั้งใหญ่ โดยได้รับปากจะจัดสรรวัคซีนให้แก่อาเซียน อินโด-แปซิฟิก และอีกหลายภูมิภาคภายในสิ้นปี 2565

ทำเนียบขาวแถลงเพิ่มเติมว่า บริษัทไบโอโลจิคัล อี ของอินเดียจะผลิตวัคซีนอย่างน้อย 1,000 ล้านโดส ภายในสิ้นปีหน้า มุ่งผลิตวัคซีนฉีดเพียงโดสเดียวที่พัฒนาโดยบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันหรือเจแอนด์เจของสหรัฐ โดยจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ จากญี่ปุ่นจำนวน 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,260 ล้านบาท) และจากออสเตรเลียที่จะสมทบเพิ่มอีก 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,365 ล้านบาท) จากเดิม 407 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12,500 ล้านบาท)