จีน-อาเซียนแน่นแฟ้น!?!จัดประชุมก้าวข้ามวิกฤตโควิด หนุนจัดการปัญหาด้วยการเจรจา สานประโยชน์พันธมิตรหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

1196

ท่ามกลางวิกฤตโควิดระบาดระลอกใหม่ในอาเซียน รัฐบาลจีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับรมว.ต่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ยืนยันร่วมมือกันฝ่าความยากลำบากทางสาธารณสุข และสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุนต่อเนื่อง

ด้วยนโยบาย เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ของจีนในนามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ “One Belt, One Road” ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลก ที่พึ่งพาทางทะเลเป็นสำคัญ สู่มิติใหม่แห่งการขนส่งและโลจิสติกส์ทางบกเชื่อมต่อทางทะเล เป็นห้วงเวลาของอาเซียนที่จะได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนผ่านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเลอย่างไร้ข้อจำกัด ทุกอย่างราบรื่นเพราะเจรจาต้าอวยสานประโยชน์ ไม่กดดันหวังกินรวบเหมือนสหรัฐและตะวันตก

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน อ้างแถลงการณ์ของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและ รมว.กระทรวงการต่างประเทศจีน ต่อที่ประชุม รมว.กต.อาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่นครฉงชิ่งของจีน ว่า จีนได้จัดส่งวัคซีน COVID-19 จำนวน 100 ล้านโดส รวมถึงเครื่องมือป้องกันการแพร่ระบาด และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่อาเซียนในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยการเผชิญวิกฤติครั้งนี้เสมือนกับวิกฤตอื่น ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งจีนและอาเซียนต่างรู้สึกห่วงใยกันเหมือนพี่น้องและเพื่อนบ้านที่ดูแลกัน ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 30 ปี ของการเป็นคู่เจรจาระหว่างจีนกับอาเซียน จีนเห็นว่า ควรจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านวัคซีนทั้งการวิจัยและการผลิต เพื่อเป็นศูนย์แจกจ่ายวัคซีนในภูมิภาค ซึ่งจีนจะยังคงสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขในภูมิภาคต่อไป ตามความริเริ่มความร่วมมือด้านสาธารณสุขจีน-อาเซียน

ตัังแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 รัฐบาลจีนยังคงรักษาตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นบวกได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวคิดการสร้างสมดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการยึดตลาดภายในเป็นหลัก และอาศัยตลาดภายในกับภายนอกส่งเสริมกันและกัน (Dual Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นับตั้งแต่จีนเริ่มเห็นแนวโน้มสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้ต้องมองหาทางเลือกอื่นเพื่อการรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้น้ำหนักกับการขับเคลื่อนการเติบโตภายใน ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงขับเคลื่อนภายนอก โดยมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรทางการค้าไปสู่หลากหลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน

ยุทธศาสตร์การสร้างพันธมิตรในเอเชียและยุโรป โดยใช้เส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงกับอาเซียนของจีนคือ “แผนเส้นทางขนส่งทางบกและทางทะเลภาคตะวันตกแบบบูรณาการ”  เป็นการบูรณาการเส้นทางการขนส่งเชื่อมต่อ 96 ประเทศ/พื้นที่ ครอบคลุม 264 เมืองท่า ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือน ส.ค.2562 เป็นหนึ่งในแผนการเชื่อมโยง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ทั้งทางบกทางทะเลเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และยุโรป 

แผนการดังกล่าวจะใช้ “มหานครฉงชิ่ง” เป็นศูนย์กลาง มีกวางสี กุ้ยโจว กานซู่ ชิงไห่ ซินเจียง ยูนนานเป็นประตูและจุดเชื่อมต่อ ใช้การขนส่งทางรถไฟ เรือเดินสมุทร และถนนเป็นวิธีการขนส่ง ทางใต้มีสองประตูสำคัญคือกวางสีที่อ่าวเป่ยปู้เพื่อการขนส่งทั้งทางถนน ทางรถไฟและทางเรือผ่านเวียดนาม และประตูยูนนานที่มีทางรถไฟสายแพนเอเชีย และถนน R3A เป็นตัวเชื่อมโยง

โครงการ BRI จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าจากไทยและอาเซียนในการนำเข้าและส่งออกสินค้าตามแนวทาง Cross Border E-commerce (CBEC) ที่รัฐบาลจีนส่งเสริมให้เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าตามแนวทาง BRI ที่สมบูรณ์ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยตามเส้นทางสามารถค้าขายกับจีนผ่านระบบ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” โดยมีการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ

ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(Belt Road Initiative : BRI) ให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่งข้ามแดน ควบคู่กับการเปิดเขตการค้าเสรีตามประตูการค้าต่างๆ BRI (65 ประเทศ) RCEP (15 ประเทศ อาเซียน 10 ประเทศ และเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) อาเซียน (10 ประเทศ) และ EU (27 ประเทศ) ตามลำดับ

โดยพบว่าประเทศในกลุ่ม BRI ตั้งแต่ปี 2560-2562 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้ากับประเทศจีนโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 10.7 กลุ่มประเทศ RCEP ที่ลงนามข้อตกลงในช่วงเดือน พ.ย.2563 มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.9 ขณะที่การเติบโตของมูลค่าการค้ากับอาเซียนเฉลี่ยที่ร้อยละ 12.2 และกับ EU 27 ประเทศมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.2

กลุ่ม BRI และอาเซียนจึงเป็นกลุ่มคู่ค้าที่จีนน่าจะให้ความสำคัญสูงสุด เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เติบโตในอัตราที่สูงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของแผนระยะ 5 ปีฉบับที่ 13

ทางรถไฟสายจีน-ลาวที่จะสร้างเชื่อมต่อเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อไปถึงกรุงเทพฯ และสิงคโปร์ เป็นเส้นทางรถไฟที่ลงทุนโดยจีน ด้วยเทคโนโลยีจีนทั้งหมดเป็นเส้นทางแรก โดยแบ่งเป็นทางภายในประเทศจากยวี่ซี-บ่อหาน คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ในปลายปี 2564 ทำให้การเดินทางจากคุนหมิง-เชียงรุ้งใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงกว่าเท่านั้น และจะสามารถเดินทางจากคุณหมิง-กรุงเวียงจันทน์ได้ภายใน 15 ชั่วโมง

เส้นทางนี้จะเป็นการเชื่อมเส้นทางการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนจากบ่อหาน-คุนหมิง เพื่อขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปสาย “คุนหมิง-รอตเตอร์ดัม” ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2558

สำหรับเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-รอตเตอร์ดัม จีนได้เปิดเดินรถครั้งแรกในวันที่ 1 ก.ค.2558 โดยเป็นการขนส่งเมล็ดกาแฟจากสถานีรถไฟคุนหมิงหวังเจียอิ๋งตะวันตก บรรทุกเมล็ดกาแฟ 2,050 ตันไปยังปลายทางประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้เวลาทั้งสิ้น 15 วัน เส้นทางผ่านเฉิงตู เปาจี หลานโจว อารซันโข่ว เข้าสู่เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี และถึงปลายทางเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการปลูกกาแฟยูนนาน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกาแฟมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ อยู่ที่ประมาณ 7.38 แสนไร่ ผลผลิตประมาณ 1.2 แสนตันต่อปี ซึ่งกว่าร้อยละ 99 ส่งออกไปยังยุโรป ที่ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุด คาดการณ์ว่าในอนาคตการขนส่งเมล็ดกาแฟสู่ยุโรปจะอยู่ที่ประมาณ 3 แสนตันขึ้นไป

เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปนี้จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากประเทศอาเซียนไปยังยุโรปด้วย สินค้าจากภาคเหนือตอนบนและอีสาน รวมทั้งการท่องเที่ยวของไทยก็จะมีโอกาสใหม่ๆในช่วงระหว่างและหลังวิกฤติโควิด-19