“อ.ชูชาติ” เคาะกะโหลกนักการเมืองยอมทำประชามติไหม? ขณะ “นิพิฏฐ์” เปิดทางแก้รธน.ถ้าอยากฉลุย

2552

จากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)

โดยผลการพิจารณา คดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง จึงไม่มีการออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติ ซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน

ล่าสุดเมื่อเวลา 15.10 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ล่าสุด นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า
รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติเสียก่อนว่า ประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้อง ให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติที่ประชาชนเสียงข้างมากเห็นด้วยจำนวน 16.8 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 61.35 ของผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ
ดังนั้นเมื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องให้ประชาชนลงมติว่าจะยินยอมให้แก้ไขหรือไม่
นักการเมืองที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ คือการบอกว่าอำนาจเป็นของประชาชนก็ต้องถามประชาชน นักการเมืองที่ชอบอ้างประชาชนจะยอมรับกันหรือไม่ หรือจะแถกันไปทางไหนอีก ?”

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือหมอวรงค์ ไทยภักดีได้โพสต์ข้อความระบุว่า
“ด่วน…..ศาลรธน.ไฟเขียวรัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงประชามติ 2 รอบ
เท่ากับว่า ตอนนี้ยังแก้รัฐธรรมนูญต่อไม่ได้ ต้องเริ่มต้นทำประชามติก่อน และเริ่มต้นใหม่ ติดตามดูว่า ม็อบที่รับคำสั่งให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ 60 จะมาป่วนอะไรต่อ”

ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พูดถึงกรณีนี้เช่นกัน โดยได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“รัฐธรรมนูญ ร้อนๆจ้า
-ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ผ่านการลงประชามติจากประชาชน เรียกง่ายๆว่า ประชาชนเป็นผู้”สถาปนา” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น เมื่อจะแก้ไขทั้งฉบับ จึงต้องถามประชาชน”ผู้สถาปนา” รัฐธรรมนูญเสียก่อนว่า เขาจะยอมหรือเปล่า และเมื่อแก้ไขเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติ ด้วยการถามประชาชนอีกครั้งหนึ่งว่า ที่แก้ไขมานั้น ประชาชนพอใจหรือเปล่า สรุปว่า ต้องประชามติ 2 ครั้ง
-ปัญหาคือ
1.ทั้งประชามติ 2 ครั้ง,ทั้งเลือก สสร., ทั้งร่างใหม่ทั้งฉบับ อีกทั้ง ต้องแก้กม.ประกอบรัฐธรรมนูญอีกอย่างน้อย 3 ฉบับ จึงจะเลือกตั้งใหม่ได้ เวลาของสภาที่เหลืออยู่ 24 เดือน น่าจะไม่พอที่จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. เป็นไปได้เหมือนกันที่ร่างน่าจะถูกคว่ำเสียก่อน ตอนลงประชามติครั้งแรกนี่แหละ
3.หรือสมาชิกรัฐสภาจะย้อนกลับไปแก้ไขรายมาตราเสียก่อน เพื่อให้ทันต่อการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่า ต้องกระทบต่ออำนาจของสว. แล้วสว.จะยอมให้ผ่านหรือ ก็คงยากอีก เพราะคราวที่แล้วร่างของฝ่ายค้านก็ถูกคว่ำไปครั้งหนึ่งแล้วนี่
*ใครคิดต่อได้ ก็คิดต่อกันเอง เผือกร้อนๆ จ้า..”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงถึงงบประมาณที่ต้องใช้ในการทำประชามติว่าปกติใช้ 3,000 ล้านบาท แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะใช้จำนวน 4,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานที่ลงคะแนนต้องกระจายให้น้อยกว่าพันคน เหลือประมาณหกร้อย จำนวนจุดลงคะแนนต้องเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนก็เพิ่มมากขึ้นทั้งของ กกต. เอกสาร รวมถึงสภา ดังนั้นตกเฉลี่ยแล้ว ประมาณครั้งละ 4,000 หรือ 5,000 ล้าน.