ิรัฐบาลอุ้มธุรกิจรายย่อยสู้โควิด!!เล็งคลอด “SMEคนละครึ่ง”!?! พยุงรายย่อย 3.1 ล้านราย ร่วมจ่าย 50-80% คิ๊กออฟเร็วๆนี้

1820

ถึงคิวภาคธุรกิจรายย่อยบ้าง มาตรการ”SME คนละครึ่ง”กำลังจะมา รัฐบาลแย้มเตรียมคลอดเร็วๆนี้ เพื่อลดภาระธุรกิจรายย่อย หวังลดภาระต้นทุน ค่าบริการทางธุรกิจ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน คาดเริ่มเปิดโครงการฯ ประมาณไตรมาสสองปีนี้ นอกจากนี้รัฐบาลได้แก้หลักเกณฑ์ซอฟท์โลนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายขึ้น และผลักดันให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐด้วย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50-80  สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่างๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี   มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.)  มาตรฐานอาหาร (อย.)  ซึ่งที่ผ่านมาการขอรับบริการทางธุรกิจต่างๆ  มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีไทยด้วย   โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs’ Co-payment ในกลางปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพและขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแต่ละราย  สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ริเริ่มแนวทางเพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น 

สสว.ผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service: BDS) จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) โดยมีค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองมาตรฐาน   ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์  การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ  ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด   ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา  รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น  

คุณสมบัติของเอสเอ็มอี: ต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับกฎเกณฑ์ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่ง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563

นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่ายและมีวงเงินกู้สูงขึ้น  รวมทั้งแนวทาง asset warehousing เพื่อช่วยเหลือไม่ใช้ทรัพย์สินธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องถูกยึดหรือปิดตัวลง ซึ่งรายละเอียดจะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ 

ก่อนหน้านี้ นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า 

“สสว.กำลังรอรายละเอียดในการสนับสนุน ระดับราคา และมาตรฐานของหน่วยงานบีดีเอส ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่เข้าใช้บริการได้รับประโยชน์เต็มที่ ตรงกับความต้องการ วงเงินสนับสนุนเบื้องต้นจะมาจากเงินอุดหนุนของสสว. ประมาณ 80 ล้านบาท หากมาตรการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ จากการหารือภาครัฐจะสนับสนุนวงเงินเพิ่มด้วย โครงการนี้สสว.จะทำเป็นมาตรการถาวร ส่งเสริมทุกปี แต่รายละเอียดการส่งเสริมจะเปลี่ยนไปตามเป้าหมายของรัฐบาล อาจเน้นกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย หรือกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการช่วยเหลือในช่วงเวลานั้นๆ” นายวีระพงศ์กล่าว

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สสว.จะเร่งผลักดันให้เอสเอ็มอี เข้ามาลงทะเบียนกับ สสว. เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องซื้อสินค้า และบริการจากเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 30% รวมทั้งเปิดช่องให้เอสเอ็มอีที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุด 10% สามารถเป็นผู้ชนะการแข่งขันได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้ามาสมัครเพียง 5,000 – 6,000 ราย จากเอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านราย โดยสสว. มีเป้าหมายภายในเดือนมีนาคม จะเพิ่มเป็น 10,000 ราย และสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะเพิ่มเป็น 1 แสนราย