กรมการข้าวชูนาแปลงใหญ่!?! หนุน “ข้าวไทย”ผงาดส่งออก ขณะเอกชนเสนอรื้อโครงสร้างผลิต-ขาย ไม่ทำอาจไร้ที่ยืน

1528

ในขณะที่การส่งออกพืชเกษตรของไทยมีแนวโน้มสดใส แต่ข้าวไทยยังติดหล่มทั้งๆที่เราได้แชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2020 แต่ป้ญหาเรื่องราคา และการแข่งขันส่งออก เรายังย่ำอยู่กับที่ ฝ่ายรัฐบาลมียุทธศาสตร์ข้าว วางแผนชัดเจนแต่ชีวิตปัจจุบันยังยากเห็นผล กรมการข้าวเดินหน้าหนุน “เกษตรแปลงใหญ่” เพื่อการผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่แนวความคิดของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับวงการข้าวได้เสนอความเห็นให้รื้อระบบเก่า ปรับโครงสร้างการผลิตและการขายจึงจะทำให้สินค้าข้าวของไทยได้เงยหน้ากลับมาผงาดได้อีกครั้ง  ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับฟัง เพื่อนำมาปรับในด้านการปฏิบัติงานให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาทั้งระบบจำเป็นต้องอาศัย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง จึงจะสำเร็จ

มาดูด้านภาครัฐกันว่า กรมการข้าวมีแผนปฏิบัติการยกระดับการผลิตข้าวอย่างไร?

วันที่ 1 มีนาคม 2564 นายอาชว์ชัยชาญ  เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่จะร่วมกันส่งเสริมให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการแปลงใหญ่ 

นอกจากนั้นยังร่วมกับภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพยกระดับการผลิตไปสู่สินค่าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยา ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

นายอาชว์ชัยชาญ   กล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว กรมการข้าวมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของสินค้าข้าว ซึ่งในส่วนของของกรมการข้าวมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,638 แปลง โดย กรมการข้าวจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำพี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันในเรื่องของการผลิต การจัดจำหน่าย การตลาด รวมไปถึงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยจะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 

1) ด้านการผลิต : ต่อยอดทำเกษตรสมัยใหม่ โดยใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยี ระบบน้ำ Precision Farming โรงเรือน โรงคัดแยกผลผลิต ลานตาก ระบบบริหารจัดการน้ำ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร 

2) ด้านการพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐาน : การจัดการคุณภาพผลผลิต เพื่อเข้าสู่การตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต เพื่อการจัดการคุณภาพสู่ระบบมาตรฐานสากล การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

 3) ด้านการตลาด : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้าง Brand ให้สามารถเข้าสูงตลาด Online และ Offline ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น การสร้างจุดรวบรวมและกระจายผลผลิต e-Marketplace ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีนั้นจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญ รวมไปถึงยกระดับการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ตลอดจนให้พี่น้องเกษตรกรสามารถบริหารการตลาดได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

ทีนี้มาดูว่าภาคเอกชนเสนอให้ปรับโครงสร้างการผลิตและการขายอย่างไรเหมือนหรือต่างจากภาครัฐหรือไม่?

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวของไทยไม่เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ และต้นทุนการผลิตของเราสูงมาก 1 หมื่นบาทต่อไร่  ขณะเวียดนาม 7,000 บาทต่อไร่ เมียนมา 6,000 บาทต่อไร่

ถึงแม้ข้าวหอมมะลิของไทยราคาสูง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่เราส่งออกได้เพียง 3 ล้านตันต่อปี ลดลงจากเดิมถึง 50% ขณะที่เวียดนามมีข้าวพันธุ์ ST24 คุณภาพใกล้เคียงข้าวไทย ราคา 700 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าขายไปยังสหภาพยุโรป ก็จะได้ลดภาษีเป็น 0% เพราะมีข้อตกลงการค้าFTA แต่ไทยต้องจ่ายภาษี 15%เพราะเรายังไม่มีFTA กับสหภาพยุโรป เป็นต้น ข้อเสนอได้แก่

  1. พัฒนาสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ 2.ลดปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน 3. รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน ทั้งระบบเกษตร โรงสี ผู้ส่งออก

ปราโมท เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้การทำนาของไทยเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆตามสภาพน้ำที่มี ไม่รู้ทิศทางว่า การส่งออกต้องการข้าวพันธุ์ไหน จะใช้บริโภคในประเทศเท่าไหร่ ส่งขายเท่าไหร่ ถ้าชาวนารู้ก็ผลิตให้ได้ ถ้าโรงสีบอกทำไมก็ขาดทุน สำหรับชาวนายิ่งแย่กว่า ปัจจัยการผลิตแพงทุกอย่าง ปุ๋ย สารเคมี ค่าเช่ารถ ค่าเช่านา แต่ผลิตได้ไร่ละ 80 ถัง เรื่องน้ำสำคัญที่สุด  ข้อเสนอคือ นโยบายรัฐบาลต้องยืนยาว ไม่เปลี่ยนไปมา แก้ปัญหาน้ำให้ได้จะดีที่สุด

ดร.รณวริทธ์ ปริยฉัตรตระกูล คณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า พื้นที่ทำนาไทยประมาณ 61 ล้านไร่ มีเกษตรกร 24 ล้านคน แต่กรมการข้าวมีเจ้าหน้าที่ 958 คน ต้องแบกรับภาระกิจเรื่องนี้ไว้ทั้งหมด ควรรวมเรื่องที่กระจายซ้ำซ้อนในกระทรวง หน่วยงานต่างๆมารวมไว้ที่กรมการข้าวให้หมดเพียงแห่งเดียว แล้วต้องมีเจ้าหน้าที่ทำงาน 4,000-5,000 คนจึงจะสอดคล้องกับภารกิจ และแสดงถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลด้วย

ข้อเสนอเพื่อให้คุณภาพข้าวดีขึ้น ควรทำไรซ์โซนนิ่ง (Rice Zoning) ข้าวหอมมะลิปลูกได้ 3 จังหวัดภาคเหนือ-ภาคอิสาน โดยถ้ามีการปลูกหอมมะลินอกเขตจะไม่ได้รับการรับรอง จะได้มีคู่แข่ง และผลักดันให้เป็นสินค้าพรีเมียม นิชมาร์เก็ต  ส่วนภาคกลางให้ปลูกข้าวพื้นนุ่ม อีสานและเหนือให้ปลูกข้าวเหนียว กำหนดให้เป็น กข6 ตามที่ตลาดนิยม ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็จะช่วยให้การผลิตและการขายเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ทันสถานการณ์ส่งออกได้ดีขึ้นด้วย