ในหลวงพระราชดำรัสศาลฎีกา ร.4 เริ่มปฏิรูประบบศาล ขอตลก.จรรโลงความยุติธรรม

2908

จากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลฎีกา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

ขณะที่เฟซบุ๊ก โบราณนานมา ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย โดยระบุเรื่องราวที่น่าประทับใจและควรจดจำเป็นอย่างยิ่งว่า

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ครุยตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ ๖ ถึง รัชกาลที่ ๙ นั้น เคยแต่ทรงฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิตเท่านั้น

(๗ ธันวาคม ๒๕๖๓) เวลา ๑๗.๓๒ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลฎีกา แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ครุยเสด็จฯ เข้าห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า

“…อาคารที่ทำการศาลฎีกา ซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่บนที่ตั้งอาคารที่ทำการหลังเดิมนี้ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์แห่งการยุติธรรมของไทย อันนับเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการปฏิรูประบบศาล และสร้างศาลสถิตยุติธรรมขึ้น

ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกาแห่งนี้ ก็เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง เพราะนอกจากจะเป็นที่สำหรับประชุมกัน เพื่อคัดเลือกผู้พิพากษาให้ทำหน้าที่วินิจฉัยตัดสินคดีต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นที่สำหรับประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาและตีความข้อกฎหมายสำคัญ ๆ อันนำไปสู่บรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศด้วย

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ทุกท่านทุกฝ่ายผู้มีส่วนร่วมในงานศาลยุติธรรม คงจะมีความภาคภูมิใจ ในเกียรติประวัติของที่ทำการแห่งนี้ ทั้งคงจะได้รำลึกถึงความสำคัญของหน้าที่ที่แต่ละคนมีอยู่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน และประเทศชาติ จึงขอให้ทุกท่านตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความรู้ในหลักวิชาการและกฎหมาย ประสบการณ์ที่ได้สร้างสมมา รวมทั้งวิจารณญาณที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลและหลักธรรม เพื่อจรรโลงรักษาความยุติธรรมอันเที่ยงแท้ ให้บังเกิดความวัฒนาผาสุกแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป…”

ที่มา : เฟซบุ๊ก โบราณนานมา