เมียนมาส่อยืดเยื้อกระทบการลงทุนไทย?!? กองทัพเพิ่มข้อหาซูจี ยันจัดเลือกตั้งใหม่ ขณะสิงคโปร์ค้านคว่ำบาตร ทุนไทยขยับเตรียมเผ่นกลับบ้าน

1878

สถานการณ์ในเมียนมาส่อเค้ายืดเยื้อ มีแนวโน้มกระทบกับธุรกิจไทยมากขึ้น ทางการเมียนมาเพิ่มอีกข้อหานางอองซาน ซูจีอีก 1 กระทงขยายเวลาควบคุมตัวซูจีและพวกออกไปส่อสร้างความโกรธแค้นกลุ่มสนับสนุน ขณะกองทัพเมียนมาแถลงข่าวเป็นทางการครั้งแรก ย้ำไม่ได้รัฐประหารและยืนยันจะจัดเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชน ด้านสิงคโปร์แถลงไม่สนับสนุนการใช้มาตรการคว่ำบาตรในวงกว้างต่อเมียนมา ส่วนธุรกิจไทยส่งสัญญาณเตรียมกลับไทย แม้เมียนมาจะเปิดให้ดำเนินธุรกิจปกติ แต่ติดขัดระบบอินเตอร์เน็ต ทำธุรกิจรรมต่างๆมีเวลาจำกัด มีปัญหาเก็บเงินไม่ได้ ผวากองทัพยกระดับปราบปราม

วันที่ 17 ก.พ. 2564 ขิ่น หม่อง ซอว์ ทนายความของนางอองซาน ซูจี เปิดเผยในวันนี้ว่า ตำรวจเมียนมาตั้งข้อหานางซูจีเพิ่มอีกหนึ่งข้อหา หลังจากที่กองทัพเมียนมาได้ควบคุมตัวและยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

นางซูจีถูกตั้งข้อหาแรกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ฐานนำเข้าและใช้วิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมาย มาตรา 8 และถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก กรุงเนปิดอว์ จนมาถึงวันนี้ ทนายได้เปิดเผยล่าสุดว่า นางซูจีถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติม ฐานฝ่าฝืนกฎหมายจัดการภัยพิบัติ มาตรา 25 โดยคาดว่าจะเป็นการทำผิดกฎควบคุมโรคโควิด-19 จากการจัดชุมนุมปราศรัยหาเสียง ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับประธานาธิบดีอู่ วิน มยินต์ กำหนดศาลเปิดไต่สวนวันที่ 1 มี.ค.2564

ในวันอังคารที่ 16 ก.พ.2564 การชุมนุมประท้วงในเมืองย่างกุ้งดำเนินมาเป็นวันที่ 11 ติดต่อกันแล้ว นอกจากนั้นยังมีฝูงชนกลุ่มใหญ่ในเมืองเมาะลำเลิง ออกมาปิดกั้นทางรถไฟ เพื่อไม่ให้รถไฟเดินทางออกจากเมืองได้ และกลุ่มคนขับรถไฟก็ร่วมประท้วงหยุดงาน

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นในการควบคุมการประท้วงตามท้องถนน โดยใช้กระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุมที่เมืองมัณฑะเลย์ รวมทั้งตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในเวลากลางคืน และออกปฏิบัติการตอนกลางคืนเพื่อจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมฐานฝ่าฝืนกฎหมายเคอร์ฟิว

ในวันเดียวกันนี้ นายพลจัตวาซอ มิน ตุน โฆษกสภาปกครองประเทศเมียนมาและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศคนปัจจุบัน แถลงข่าวครั้งแรกที่กรุงเนปิดอร์  โดยยืนยันว่ากองทัพจะจัดมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และส่งมอบอำนาจให้กับผู้ชนะ พร้อมปฏิเสธว่าการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเป็นการรัฐประหาร เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังประณามกลุ่มผู้ประท้วงว่า ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง และข่มขู่กรรโชกข้าราชการ ทั้งเรียกร้องสื่อมวลชนไม่ให้เรียกการยึดอำนาจดังกล่าวว่ารัฐประหาร

ทั้งนี้ย้ำว่า เมียนมาจะไม่ละทิ้งความสัมพันธ์กับต่างชาติ หรือยกเลิกความตกลงทางธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ พร้อมทั้งยืนยันว่าจีนไม่ได้มาช่วยเหลือเมียนมาติดตั้งไฟร์วอลล์เพื่อสกัดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เพราะหากจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเมียนมาก็มีผู้เชี่ยวชาญที่จะทำได้เองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยที่ลงทุนในเมียนมาจับตาสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิดเริ่มเตรียมขยับขยาย เพราะมีแนวโน้มที่การต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาลของเมียนมาจะขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้อาจเกิดการปราบปรามยกระดับความรุนแรงมากขึ้น อีกประการหนึ่ง การตัดอินเตอร์เน็ตแม้ตัดในช่วงกลางคืน แต่ก็เกิดผลกระทบในการดำเนินธุรกิจไม่ต่อเนื่อง และมีปัญหาในการดำเนินธุรกรรมการเงินไม่คล่องตัว

สภาธุรกิจไทย-เมียนมา กังวลการทำข้อตกลงหรือสัญญาที่เอกชนไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่ถูกยึดอำนาจ  ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อหรือไม่ โดยไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมาและบริษัทชั้นนำจำนวนมากของไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมา เช่น กลุ่ม ปตท. เอสซีจี แม็คโคร บีเจซี โดยในประเด็นนี้จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมียนมาและทำตลาดมาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเบื้องต้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ แต่สิ่งที่เป็นห่วงและไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือความรุนแรง

ส่วนความเคลื่อนไหวกรณีเมียนมาของต่างประเทศล่าสุด คือ จีนปฏิเสธว่ารู้เห็นหรือสนับสนุนการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ส่วนสิงคโปร์แถลงไม่สนับสนุนการใช้มาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจในวงกว้างต่อเมียนมาเพราะกระทบกับประชาชน

Chinese ambassador to Myanmar Chen Hai (C)

วันนี้ 17 ก.พ. 2564 รัฐบาลปักกิ่งแถลงยืนยันว่า ข่าวลือในโซเชียลมิเดียที่ว่าจีนสนับสนุนหรือมีความเกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจของกองทัพในเมียนมา “เป็นเรื่องเหลวไหล”

นายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมืองย่างกุ้ง ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นในเมียนมา กล่าวถึงสถานการการเมืองในเมียนมาว่า “รัฐบาลปักกิ่งเป็นมิตรที่ดีกับกองทัพภายใต้การบัญชาการของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และอดีตรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี และกล่าวถึงกระแสโซเชียลแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับ เที่ยวบินคาร์โกจากจีน เป็นการลำเลียงทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน(พีแอลเอ) พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเครื่องมือทันสมัยมากมายนั้น ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง”  เที่ยวบินคาร์โก้จากจีนเป็นการ เดินทางเข้าออกตามกำหนดการเพื่อ ลำเลียงสินค้าเกษตรและอาหารทะเลตามข้อตกลงเท่านั้น

และเมื่อวันที่ 16 ก.พ.64 รายงานถ้อยแถลงของนายวิเวียน บาลากริชนัน รมว.กต.สิงคโปร์ ว่า สิงคโปร์ไม่สนับสนุนการใช้มาตรการคว่ำบาตรในวงกว้างต่อเมียนมา เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน และคาดหวังให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กับประธานาธิบดีอู่ วิน มยินต์ เพื่อให้มีการเจรจาและประนีประนอมระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงระหว่างการประท้วง การจับกุมผู้ชุมนุม การระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ต การเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งนี้ สิงคโปร์ขอให้ฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาใช้ความอดกลั้น และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

ทูตพิเศษองค์การสหประชาชาติเตือนเมียนมาให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังตอบโต้ผู้ชุมนุมประท้วงเพราะอยู่ในสายตาชาวโลก

เว็บไซต์ UN News ขององค์การสหประชาชาติ (UN) รายงานในวันที่ 16 ก.พ.2564 ว่า นางคริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกนเนอร์ ทูตพิเศษของ UN ด้านกิจการเมียนมา ได้หารือทางโทรศัพท์กับพล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ กล่าวเตือนว่า หากกองทัพใช้กำลังตอบโต้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร  จะมีผลกระทบรุนแรงตามมา และย้ำให้เคารพสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ และไม่ใช้กำลังตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งระบุว่าทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และเตือนว่าจะมีมาตรการขั้นเด็ดขาดหากยังไม่ได้รับการตอบสนอง  ในขณะที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่าเจ้าหน้าที่อดกลั้นถึงที่สุด แต่พร้อมใช้ไม้แข็งหากว่าจำเป็น