ชวนส่งร่างแก้รธน.ให้บิ๊กตู่ 27 กันยานำทูลเกล้าฯโยนอำนาจนายกส่งศาล

2728

จากที่วันนี้ 25 กันยายน 2564  นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาเปิดเผยถึงกระบวนการล่าสุดเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากผ่านวาระสาม ทั้งยังมีเสียงเรียกร้องให้ส่งศาลตีความก่อนนั้น

ทั้งนี้ล่าสุด นพ.สุกิจ กล่าวว่า ในวันที่ 27 กันยายนนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ที่ผ่านความเห็นจากรัฐสภาในวาระ 3 แล้ว ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป หลังจากครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 26 กันยายน และไม่มีการเข้าชื่อจาก ส.ส.หรือ ส.ว. ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว

“ส่วนที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายปี 2565 ยื่นเรื่องต่อนายชวน ให้ทบทวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างที่แก้ไขใหม่ยังมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ในบางมาตราอยู่นั้น ไม่ใช่ดุลยพินิจของนายชวน ที่จะพิจารณาทบทวน หรือ ยับยั้งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเองได้

หากไม่มีส.ส. หรือส.ว. เข้าชื่อคัดค้านขอให้ส่งตีความ เมื่อครบกำหนด 15 วัน และไม่มีใครเข้าชื่อร้องคัดค้านมา นายชวนต้องส่งเรื่องให้นายกฯ นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกฯว่า จะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ หากเห็นว่ามีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่ถ้านายกฯเห็นว่า ไม่มีเนื้อหาขัดแย้งก็นำขึ้นทูลเกล้าฯตามขั้นตอนต่อไป”

ขณะที่เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรคไทยภักดี ได้แถลงช่วงหนึ่ง ว่า การที่สมาชิกรัฐสภา ได้ดำเนินการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรหนึ่งใบไปสู่บัตรสองใบ โดยใช้กระบวนฉ้อฉล เร่งรีบ ไม่รอบคอบ ในการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ประชุมใหญ่อนุมัติให้รับหลักการในวาระแรกเพียงสองมาตรา คือมาตรา 83 และมาตรา 91 แต่ไปลักไก่เพิ่มมาตรา 86 เข้ามา

“จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน มาร่วมกันยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน) เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน ที่จะถูกนักการเมืองทำลายทิ้งผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันอังคารที่ 28 กันยายนนี้ เวลา 9.30 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อ23 กันยายน 2564 นายเรืองไกร ตรวจสอบพบว่า บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ อาจมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิมบางมาตรา โดย นายเรืองไกร กล่าวว่า เดิม ประธาน กมธ.เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 นั้น ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย คือ มาตรา 85 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 105 เพื่อให้สอดรับกันด้วย

“แต่ต่อมาวันที่ 24 ส.ค.ประธานกมธ.ได้ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม โดยตัดมาตรา 85 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 105 คงมีการแก้ไขเฉพาะมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 เท่านั้น”

นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังกล่าวว่า เมื่อรัฐสภาลงมติวาระ 3 ไปแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 13 ส.ค.กรณีจึงมีปัญหาตามมาว่า บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 24 ส.ค.ยังมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิมบางมาตรา เช่น มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105 กรณีที่บทบัญญัติใหม่ ขัดแย้งกับบทบัญญัติเดิม จะเห็นได้จากการนำความตามบทบัญญัติมาตรา 85 มาตรา 86 และมาตรา 91 ไปแทนที่ของเดิม แล้วจะพบว่า บทบัญญัติทั้งสามมาตรา ไม่สอดรับกับมาตราเดิม คือ มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105 ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันในเนื้อกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญ