เปิดประวัติ 8 ผู้ต้องหาป่วนม็อบ13ก.พ. คดีติดตัวอื้อพกปืน ใช้ยาเสพติด แต่ “โตโต้” ครวญบอกตร.เหี้ยม แค่ไม่ให้พบขณะไต่สวน

3598

จากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงของการชุมนุม เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 64 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยหลังจากแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ได้มีมวลชนบางส่วนปักหลักและเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้มีมวลชนบางส่วนถูกจับกุม

ต่อมา นายปิยรัฐ จงเทพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีผู้ต้องหาจากม็อบ 13 ก.พ. ทั้ง 8 คน โดยข้อความระบุว่า
“ตำรวจยังคงเส้นคงวาเรื่องความเหี้ยม
ล่าสุด
1).โทรนัดหมายทนายตอนเช้าว่าจะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง8 (คดีม็อบวันที่13กุมภา) ไปที่ศาลอาญารัชดาเพื่อฝากขัง ทนายก็เตรียมตัวไปรอที่ศาล
2) ทนายไปศาล… จนท.แจ้งว่าตำรวจมาทำเรื่องขอไต่สวนฝากขังผ่าน วีดีโอ คอลฯ ไปที่ ตชด. เลย ไม่ต้องมาศาล ทำให้ทนายเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องหาจึงขอทำเรื่องคัดค้าน
3) ทนายตามไปที่ ตชด. ภาค1 ตำรวจไม่ให้เข้าพบผู้ต้องหา โดยปล่อยให้ผู้ต้องหาอยู่ในกระบวนการไต่สวนตามลำพัง กับ พนักงานสอบสวน
แบบนี้เราจะยอมได้อย่างไร ถ้าเขาอยากจับ อยากขังกันมากนัก ก็ออกกันมาให้มันจับ มันขับซะเป็นไร”

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทั้ง 8 คนนั้น ถูกจับกุมเนื่องจากมีความผิดดังนี้
1. ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9(2) ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 16 ลง 3 มกราคม 2564 ข้อ 2 โดยร่วมชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่องการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
3. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
4. เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม ม.215 ให้เลิก แล้วไม่เลิก
5. ร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป
6. ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ล่าสุด วันนี้ 15 ก.พ. 64 เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความกังวลว่าการชุมนุมมีการจุดกระแสกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายและอาจจะ มีการเคลื่อนไหวที่หน้ารัฐสภาในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ยืนยันว่าตนจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ ในการทำหน้าที่ตามกฏหมายที่มีอยู่ด้วยความ
ละมุลละม่อม ขณะเดียวกัน ขอฝากเตือนไปยังกลุ่มผู้ที่ก่อเหตุด้วยทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานที่มีจำนวนมากในกล้องต่างๆที่ออกมาเห็นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามก็ขอร้องสื่อให้เสนอข่าวทั้ง 2 ทาง ว่ามีการปฏิบัติอย่างไรกับเจ้าหน้าที่วันนี้ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วยที่ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง อย่าลืมว่าทุกคนก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมา รังแต่จะทำให้เกิดความรุนแรงต่อไปซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศและประชาชนโดยรวม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะชี้แจง หรือ แสดงความเสียใจ ต่อเหตุการณ์ที่ตำรวจทำร้ายร่างกายทีมแพทย์อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ ผมบอกไปแล้วว่า มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย ในส่วนเหตุการณ์ดังกล่าวก็ต้องไปพิสูจน์ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ ขณะนี้ก็อยู่ในกระบวนการสอบสวน ก็ขอร้องว่าอย่าบิดเบือนหรือฟังความด้านเดียว ทุกคนต้องเคารพกฎหมายด้วยกันทั้งหมด”

เมื่อถามถึงการนัดหมายชุมนุมเคลื่อนไหวชุมนุมนอกสภา ในวันที่
17และ 20 ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะส่งผลต่อการอภิปรายและลงมติในสภาฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า อย่ามีการเคลื่อนไหวในทางปลุกระดมปลุกปั่น ให้เกิดการชุมนุม ไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติในเวลานี้ เพราะประเทศชาติมีปัญหาอยู่ ทั้งโควิดและปัญหาต่างๆ มากมาย ถึงไม่ควรเพิ่มความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันกระบวนการทำงานก็เป็นเรื่องของสภารัฐสภาและรัฐบาลที่ต้องชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงขอให้ประชาชนเฝ้ารอฟังที่บ้านดีกว่ามาประท้วงซึ่งไม่รู้เพื่อจุดมุ่งหมายอะไร ซึ่งหลายคนพอจะทราบอยู่แล้ว

เมื่อถึงความพร้อมต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันพรุ่งนี้(16 ก.พ.) มีความกังวลกับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวพันกับสถาบันอย่างไร ถ้าละเอียดอ่อนมากจะขอให้ประชุมลับหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนคงไม่ต้องตอบ เรื่องความกังวลเกี่ยวข้องอะไรต่างๆเรื่องสถาบันฯ ในสภา ควรหรือไม่ควรก็ไปว่ากันมา เป็นเรื่องของสมาชิกและเป็นเรื่องที่สภาต้องดำเนินการให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ

เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวว่ากลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหารเมียนมาในไทยแฝงตัวร่วมชุมนุมในพื้นที่ปทุมวันและสนามหลวงช่วงที่ผ่านมา ได้กำชับให้หน่วยความมั่นคงดูแลเรื่องนี้อย่างไร เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมขอเตือนว่าให้ใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุดในฐานะมิตรประเทศและอาเซียน ต้องระมัดระวังทุกมิติและทุกประเด็นพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกแหล่งว่าจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด”

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบ พบว่าทั้ง 8 คนนั้น ส่วนใหญ่ล้วนเคยมีประวัติอาชญากรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. นายจิตรกร อายุ 21 ปี
พบประวัติ ข้อหา มียาเสพติดให้โทษประเภท5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ปี 2563 สน.คันนายาว
2. นายพรพรหม อายุ 34 ปี
พบประวัติ ข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ปี 2558 สน.บวรมงคล
3. นายปัฐกรณ์ อายุ 19 ปี
พบประวัติ ข้อหา พกอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยมิได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ปี 2560 สภ.เมืองนนทบุรี
4. นายทองนพเก้า อายุ 19  ปี
พบประวัติข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน หรือการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ปี2563 สน.ชนะสงคราม
5. นายธนเดช อายุ 44 ปี
ไม่พบประวัติ
6. นายอดิศักดิ์ อายุ 28 ปี
พบประวัติ ข้อหาขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ปี 2562 สภ.บัวเชด จว.สุรินทร์
7. นายชัยณรงค์ อายุ 41 ปี
พบประวัติ ข้อหา เป็นผู้ขับขี่ในขณะมีสารเสพติดให้โทษในร่างกายฯ (ขับเสพ) ปี2561 สน.บางชัน
8.นายปุรพล อายุ 19 ปี
ไม่พบประวัติ