เดินหน้าลดค่าครองชีพ!!กพช.ควัก1.36 หมื่นล้าน จากแหล่งก๊าซเมียนมา หนุนลดค่าไฟฟ้าปชช.

1089

สถานการณ์สินค้าแพงขึ้นมีเหตุปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทั่วโลก เป็นปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่หยุด ปัญหาที่ตามมาคือต้นทุนการผลิตเพิ่ม บวกกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การขนส่งไม่คล่องตัวเหมือนในภาวะปกติเนื่องจากการกระบาดโควิดที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำเติมด้วยโรคระบาดในปศุสัตว์ทำให้การผลิตลดลง ปัญหาเช่นนี้เผชิญกันทั้งโลก ด้านรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ได้พยายามตรึงราคาดีเซลและ LNG ให้ได้ก่อนประมาณ 3 เดือน แต่ดูแล้วน่าจะควบคุมราคาไม่อยู่เพราะ กลุ่มประเทศผลิตน้ำมัน OPEC ไม่ยอมเพิ่มกำลังผลิต

ล่าสุดรัฐบาลโดยกพช.ไฟเขียวนำเงิน Take or Pay จากแหล่งก๊าซเมียนมาจำนวนกว่า 13,600 ล้านบาท เอามาสนับสนุนลดค่าไฟฟ้าประชาชน 22 สตางค์/หน่วยเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน พร้อมวางแนวทางแก้ปัญหานำเข้าก๊าซ LNG ช่วงราคาสูงด้วย

วันที่ 6 ม.ค. 2565 สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโพสต์ลงเฟสบุ๊กว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา โดยให้นําเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พ.ย. 2564 จํานวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมด ไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) 

โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว

ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) สำหรับสัญญาระยะยาว และ/หรือ สัญญาระยะกลาง ได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ (1) สูตรที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (2) สูตรที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ และ (3) สูตรในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคา LNG Benchmark สำหรับกลุ่ม Regulated Market ต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และสามารถนำการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย ในระยะปานกลาง ปี 2565-2574 รวมถึงรองรับพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ ที่ประชุม กพช. จึงมีมติเห็นชอบโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดปี 2565-2566 50 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลตามแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง ปี 2565-2574 ต่อไป

ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยอาจเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการอื่นใดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้สถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ช่วงเปลี่ยนผ่านมีความต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยได้เห็นชอบ ดังนี้

(1) จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็มความสามารถของแหล่ง รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ

(2) การเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565

(3) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิมกลุ่มชีวมวล ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตเหลือ ทั้งนี้ควรมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม

(4) เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา หรือเชื้อเพลิงอื่นๆ ทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดขึ้นอยู่กับ Generation Mix หรือศักยภาพของระบบส่งที่รองรับและความเพียงพอของการจัดหาเชื้อเพลิงตามฤดูกาล  

(5) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 พร้อมทั้งนำข้อสังเกตจากการประชุมอื่นๆ ประกอบการพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันในปี 2565 ซึ่งกรณีของราคาน้ำมันยังยืนยันที่จะตรึงดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ถึงสิ้นเดือน มี.ค แต่สำหรับกรณีตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ราคา 318 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กิโลกรัม) จะสิ้นสุดเดือน ม.ค.นี้ หลังจากนั้นจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันไดเพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง