ธปท.-คลังจับมืออุ้มภาคท่องเที่ยว!?! ปลดล็อคซอฟท์โลน แช่หนี้ เว้นภาษี วงเงิน 1 แสนลบ.หวังธุรกิจท่องเที่ยวเงยหัว

1487

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของไทยยังต้องพึ่งรายได้จากภาคการท่องเที่ยวอยู่มากเป็นอุตสาหกรรมธุรกิจ-บริการที่คนไทยทำมานานและมีความเชี่ยวชาญไม่เป็นสองรองใคร  เมื่อโควิด-19 บุกมาทำให้เครือข่ายซัพพลายเชนของการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ภาคท่องเที่ยวเจ็บหนักเพราะผูกติดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อทั้งโลกหยุดเดินทาง เราก็เดี้ยง  จะว่าไปก็เหมือนการจัดระเบียบให้การท่องเที่ยวของโลก และของไทยด้วย และวันนี้แม้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่จะวางใจยังไม่ได้ เพราะขึ้นๆลงๆ  แต่ก็จำเป็นต้องประคับประคองธุรกิจภาคท่องเที่ยวทั้งระบบไว้ไม่ให้ล้มระเนระนาด เพราะกระทบถึงคนไทยหลายแสนคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เคาะมาตรการ แข่แข็งหนี้ 5 ปี โอนชำระหนี้ไม่ต้องเสียภาษี เปิดทางซื้อคืนหรือเช่าบริหาร แพ็กเก็จอุ้มภาคท่องเที่ยวทั้งระบบวงเงิน 1 แสนล้านบาท ครอบคลุม ซัพพลายเชน-ธุรกิจสายการบิน-ธุรกิจ SMEโรมแรม

วันที่ 13 ก.พ. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ก.คลังเตรียมออกแพ็คเกจมาตรการดูแลภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีมาตรการเดิมบวกกับที่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเสนอมา และจะดูแลทั้งระบบ ตั้งแต่ซัพพลายเชนของธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประการธุรกิจ เอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวธุรกิจโรงแรม และสายการบินด้วย

นายกฤษฏา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในเบื้องต้นมีมาตรการเยียวยาด้านการท่องเที่ยวแล้วอยู่ในระหว่างพิจารณารายละเอียด “ทุกกลุ่มภาคการท่องเที่ยวต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ และเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังจะออกมาตรการออกมาให้เร็วที่สุด ช่วยเหลือทุกกลุ่ม รวมทั้งธุรกิจสายการบิน ซึ่งจะมีการแก้ไขซอพท์โลน ปลดล็อคให้การเข้าถึงของเอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวทำได้สะดวกขึ้น เรื่องนี้รมว.คลังกำลังหารือกับผู้เกี่ยวข้อง”

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สศค.(สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) เห็นชอบหลังการ “แช่แข็งหนี้” โครงการแอสเสตแวร์เฮ้าซิ่ง (Asset Warehousing) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถชำระหนี้ สามารถแช่แข็งหนี้ได้ 3-5 ปี ไม่ต้องแบกภาระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย

ทั้งนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ต้องได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 ระบาด ที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้วไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และต้องมีหลักประกันประเภทอสังหาริมทรัพย์เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวเป็นต้น

ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการต้อง “ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้” เพื่อช่วยให้ไม่ต้องแบกภาระเงินต้นและดอกเบี้ย และมีเงื่อนไขให้เช่า หรือซื้อคืนจากธนาคารได้หลังหมดระยะเวลาแช่หนี้ ทั้งนี้ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่หลัง ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เช่าทรัพย์สินต่างๆเหล่านั้นมาดำเนินธุรกิจในระหว่าง ระยะเวลาแช่แข็งหนี้ได้ ทั้งนี้เป็นมาตรการที่ต้องสมัครใจทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ถือเป็นกลไกช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ในที่สุด

วงเงินเพื่อการแช่แข็งหนี้เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่กำหนดจากการปรึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูล การประเมินลูกหนี้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากลูกหนี้ไม่ต้องการตีโอนทรัพย์ ธปท.มีช่องทางปลดล็อค ปรับแก้กฎเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงซอฟท์โลนให้ง่ายขึ้น ส่วนก.คลังจะยกเว้นภาษี ในด้านการตีโอนทรัพย์ เช่นกันกับการยกเว้นภาษีเพื่อปรับโครงสร้างหนี้

ธปท.และคลังแจงว่า ในหลักการเห็นร่วมกันหมดแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรีไม่เกินเดือนก.พ.นี้ และคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไป

หนึ่งในแพ็กเก็จมาตรการดูแลภาคท่องเที่ยวในการเติมสภาพคล่อง สถาบันการเงินของรัฐจะมีบทบาทหลัก เช่นธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย คาดจะออกสินเชื่อผ่อนปรน โดยรัฐบาลจะอุดหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ล้านบาทรอครม.อนุมัติเร็วๆนี้