เฟซบุ๊กงัดข้อศาลยุโรป?!? ขู่จะเลิกให้บริการแอพฯและอินสตาแกรม ถ้าสั่งระงับการถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้ในยุโรปไปสหรัฐ

2276

เดือนกันยายนตลอดทั้งเดือนเฟซบุ๊กได้เผชิญความท้าทายใหม่ จากการถูกรัฐบาลประเทศต่างๆออกคำสั่งและหรือออกกฏหมาย บังคับให้เฟซบุ๊กดำเนินธุรกิจบนครรลองความชอบธรรมกับประเทศชาติและประชาชนประเทศนั้น ต้นเดือนโดนศาลออสเตรเลีย เล็งออกกฎหมายบังคับจ่ายค่าคอนเท้นต์ให้สื่อท้องถิ่น ซึ่งเฟซบุ๊กนำไปเผยแพร่ฟรีๆมาตลอด ปลายเดือนเจอศาลสูงอียูสั่งระงับโอนถ่ายข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปไปสหรัฐ แน่นอนเฟซบุ๊กสู้คดี แต่เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนอะไร เฟซบุ๊กและซีอีโอมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กคงต้องนำกลับไปพิจารณาทบทวน เพราะโลกไม่ได้มีแต่แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กอย่างเดียวเท่านั้น

เฟซบุ๊กเปิดเผยว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหภาพยุโรปมีจำนวน 410 ล้านคนต่อเดือน ก่อนที่ศาลจะตัดสินใจออกคำสั่งระงับนั้น  เฟซบุ๊กได้ชี้แจงและต่อสู้ทางกฎหมายกับคณะกรรมการปกป้องข้อมูลแห่งไอร์แลนด์ (Data Protection Commission:DPC)  ซึ่งมีคำสั่งเบื้องต้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ตั้งคำถามกับความถูกต้องในการส่งข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กในอียูกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงและต่อสู้ทางกฎหมายมาโดยตลอด อยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์

เฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทอาจต้องระงับการดำเนินการแอพพลิเคชั่นหลักบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เนื่องจากการห้ามโอนถ่ายข้อมูลของผู้ใช้ในยุโรปไปสหรัฐฯ บริษัทได้ส่งเอกสารชี้แจงไปยังศาลสูงแห่งไอร์แลนด์ในวันที่ 10 กันยายน 2563 ในข้อชี้แจง เฟซบุ๊กโต้แย้งคำสั่งเบื้องต้นซึ่งออกมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาโดย กลุ่มจับตาข้อมูลส่วนบุคคลแห่งไอร์แลนด์ คณะกรรมการปกป้องข้อมูล บังคับบล๋อคเฟสบุ๊กจากการถ่ายโอนข้อมูลของผู้ใช้ในอียูกลับไปยังสหรัฐ

“ในการที่ผู้ใช้งานแอพฯของเราถูกระงับอย่างสมบูรณ์ ในการส่งข้อมูลผู้ใช้ในอียูไปสหรัฐ  ตามคำสั่งDPCดังกล่าวนั้น  มันไม่มีความชัดเจนต่อเจ้าของแอพพลิเคชั่น ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้ภายใต้คำสั่งนั้น เพื่อจะให้บริการเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมต่อไปในอียู” Yvonne Cunnane หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการปกป้องข้อมูลเฟซบุ๊กแห่งประเทศไอร์แลนด์กล่าว

เฟซบุ๊กไม่ได้ถูกกดดันให้ออกไปจากยุโรป เอกสารทางกฏหมายซึ่งออกมาโดยศาลสูงแห่งไอร์แลนด์ ได้กล่าวถึงตัวอย่าง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีของเฟซบุ๊ก และผลกระทบกับประชาชน ภาคธุรกิจอื่นๆ องค์กรและภาคบริการ เฉพาะด้านการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างอียูและสหรัฐอเมริกา เพื่อเสนอหนทางการดำเนินธุรกิจของของเฟซบุ๊กได้ต่อไป โดยไม่ขัดผลประโยชน์ของประชาชนยุโรป และกิจการเอกชนของยุโรป

“การสูญเสียความปลอดภัย ความมั่นคงและการถ่ายโอนข้อมูลในระดับนานาชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมายนี้ไป จะทำลายเศรษฐกิจ และการเติบโตของธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสารในอียู ดังเช่นที่เราเคยได้แสวงหาหนทางพลิกฟื้นจากการระบาดโควิด-19 จากพื้นที่นี้” โฆษกเฟซบุ๊กยืนยัน

บริษัทได้คัดค้านคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นการกดดันที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งไม่ได้มีการปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ กับบริษัทเทคสหรัฐอเมริการายอื่นๆ

เฟซบุ๊กขู่ระงับบริการยูเซอร์และสื่อออสซี่-รัฐบาลเดินหน้ากฎหมายปฏิรูปอินเตอร์เน็ต

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จะระงับไม่ให้ยูสเซอร์และองค์กรสื่อในออสเตรเลียแชร์คอนเทนต์ข่าว หากรัฐบาลออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต้องจ่ายค่าเนื้อหาเหล่านี้ ให้สื่อท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลออสซี่ตอบโต้ว่า การข่มขู่ดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการตีความผิดและไม่ถูกจังหวะเวลา เพราะออสเตรเลียกำลังอยู่ในระหว่างการร่างกฎหมายปฏิรูปอินเทอร์เน็ต  ซึ่งถูกจับตาอย่างกว้างขวาง เนื่องจากจะทำให้แดนจิงโจ้เป็นประเทศแรกที่กำหนดให้ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก และบริษัทอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่างกูเกิลของบริษัทอัลฟาเบต ต้องจ่ายค่าเนื้อหาข่าวให้กับผู้ผลิตข่าวท้องถิ่น ภายใต้ระบบที่คล้ายกับการจ่ายค่ารอยัลตี้หรือหากขัดขืนก็ต้องจ่ายค่าปรับที่จะมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ  นอกจากนี้ยังบังคับให้บริษัทไฮเทคเปิดเผยอัลกอริธึมที่ใช้ในการจัดอันดับเนื้อหา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในเรื่องนี้อีกด้วย

วิลล์ อีสตัน กรรมการผู้จัดการเฟซบุ๊ก ออสเตรเลีย โพสต์ข้อความบนบล็อกว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบและนำออกบังคับใช้ เฟซบุ๊กจะไม่อนุญาตให้ผู้ตีพิมพ์และบุคคลต่างๆ ในออสเตรเลียแชร์ข่าวท้องถิ่นหรือข่าวระหว่างประเทศบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมอีกต่อไป และสำทับว่า นี่คือทางเลือกสุดท้ายและเป็นทางเดียวเพื่อปกป้องผลลัพธ์ที่ท้าทายตรรกะ และจะส่งผลลบต่อความอยู่รอดในระยะยาวของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของออสเตรเลียเอง

ทางด้านจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย กล่าวยืนยันในวันเดียวกันว่า ร่างกฎหมายนี้เสนอขึ้นมาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และร่างขึ้นภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนนาน 18 เดือน รวมทั้งจะช่วยสร้างอุตสาหกรรมสื่อท้องถิ่นที่ยั่งยืนมั่นคงมากขึ้น ถ้าหากสื่อได้รับค่าตอบแทนจากเนื้อหาต้นฉบับที่ผลิต รัฐบาลจะไม่สนใจที่จะแถลงตอบโต้การข่มขู่ไม่ว่ามาจากที่ใด

ร็อด ซิมส์ ประธานคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (เอซีซีซี) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายที่เสนอ กล่าวว่า การตอบโต้ของเฟซบุ๊กเป็นการกระทำที่ผิดเวลาและมาจากการตีความที่ผิดพลาด พร้อมแจงว่า ข้อเสนอดังกล่าวเพียงต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสในความสัมพันธ์ระหว่างเฟซบุ๊กและกูเกิล กับธุรกิจข่าวของออสเตรเลียเท่านั้น   ทางด้าน บริดเจ็ต แฟร์ ประธานบริหารฟรี ทีวี ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้สำหรับธุรกิจฟรีทีวี แสดงความเห็นว่า แผนการของกูเกิลถือเป็นการข่มเหงรังแก และเสริมว่า บริษัทอเมริกันแห่งนี้พร้อมพูดและทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าเนื้อหาข่าวที่เป็นธรรม