ขุนคลังยันเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้น!?! สู้วิกฤตโควิดด้วย 3 วัคซีนเศรษฐกิจ ดันจีดีพี ภาคผลิตและภาคปชช. ลุ้นทะลุกว่า 5 แสนลบ.

1856

รมว.คลังให้ 3 วัคซีนกู้เศรษฐกิจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันประเทศ ทั้งด้านจีดีพี ภาคผลิต ภาคประชาชน ย้ำเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีหวัง ดัชนีชี้วัดหลายตัวเงยหัวเป็นบวก

วันที่ 11 ก.พ.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จะไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณของวัคซีนที่จะทยอยเข้ามาต่อเนื่อง โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึง และทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนแน่นอน หากทำได้เร็วจะลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีความหวังว่าจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจน้อยลง

วัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย

  1. วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ จีดีพีต้องเติบโตมั่นคง ต่อเนื่องมีคุณภาพ โตเท่าไรไม่สำคัญ เน้นเรื่องคุณภาพ เศรษฐกิจต้องมีความมั่นคง ทุนสำรองสูง ฐานะการคลังแข็งแรง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
  2. วัคซีนเศรษฐกิจระดับภาคการผลิต ภาคบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกัน ค้องมีมีการบริหารความเสี่ยง และมีธรรมาภิบาล
  3. วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีการออมเงินมากขึ้น และสร้างทางเลือกรออมยามเกษียณให้กับประชาชน

นายอาคม กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจปี 2564 รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

  1. การเยียวยาและฟื้นฟู ต้องทำให้ทันสถานการณ์ ปีที่ผ่านมามีการเยียวยาประชาชนจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับปีนี้ก็ดำเนินการมาต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน ซึ่งมาตรการเยียวยาทำได้แค่ระยะสั่นเท่านั้น ไม่สามารถเยียวยาไปไม่ได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านนโยบาบการเงินการคลัง ไปพร้อมกันด้วย
  2. การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มีความชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่อง BCG
  3. การดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ตอนนี้ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12% อีก 10 ปี จะเพิ่มเป็น 24% ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับภูมิคุ้มกันตัวแรกคือ ภูมิคุ้มกันระดับประเทศ ได้แก่ 1.ดูแลการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ต้องให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยไม่ดูตัวเลขว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำเท่าไหร่ แต่ต้องเติบโต 2.ทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังมีเพียงพอ ขณะนี้ มี 2-3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับสามารถใช้ชำระหนี้ระยะสั้นได้ 3 เท่า และ 3.เงินสำรองภายในประเทศ การเงินการคลังของประเทศ ยืนยันว่ามีความมั่นคงและมีเพียงพอ โดยหนี้สาธารณะ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 50% ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ที่ 60% 

ประการต่อมา ภูมิคุ้มกันกลุ่ม ดูแลในภาคการผลิต ภาคอุตสาหากรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อีกส่วน คือ ภูมิคุ้มกันภาคประชาชนและแรงงาน ซึ่งมีหลายส่วนที่กำลังดำเนินการ ผ่านการเยียวยา กระตุ้นและฟื้นฟู ที่สำคัญต้องสนับสนุนการออมเงินเพื่อใช้ในอนาคต ภาคบังคับและภาคสมัครใจ อาทิ การทำประกันชีวิต

ด้านแนวทางพลิกฟื้นด้านเศรษฐกิจ ในด้านอุตสาหกรรมมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัญหาว่าประเทศที่มีปัญหาในเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และทำให้การผลิตของหยุดชะงักจนส่งผลต่อซับพลายเชนบ้าง แต่ไทยนั้นยั้งสามารถเดินหน้าการผลิตต่อไปได้ 

ด้านการเยียวยา ในปี 2563 เน้น ที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่มีระบบดูแลทั้งหมด 41 ล้านคน ซึ่งส่วนของข้าราชการ มาตรา 33 ของประกันสังคม ที่มีระบบดูแลอยู่แล้ว ทำให้มีส่วนที่หายไป ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งต่อไปจะพัฒนาฐานข้อมูลในการดูแลและเพื่อเป็นฐานในการวางแผนใช้เงิน ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องแยกเงินแยกระหว่างในส่วนเยียวยาในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดหย่อน มาตรการการขยายระยะเวลาการชำระภาษี ที่ในครั้งนี้ทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ ส่วนด้านการลงทุนของภาครัฐ ที่ค่อนข้างต่ำ ขณะนี้กำลังดูแล ไฮสปีด ท่าเรือน้ำลึก โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเพิ่มเรื่องธุรกิจพลังงานสีเขียวและพลังงานชีวภาพเข้ามา

ด้านการสร้างความยั่งยืน ในประชาชนและเศรษฐกิจ โดยการสร้างอาชีพและรายได้ในประชาชน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะในภาคการบริการและการท่องเที่ยว ว่างงานและกลับไปภูมิลำเนา รัฐบาลจึงได้ผลักดันและสร้างเสริมอาชีพสำคัญ เกษตรกรรม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนภาคการท่องเที่ยว ก็ต้องมีปรับตัว เป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ การทำสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมทั้งการสร้างมูลค่าให้กับสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในอนาคต

นายอาคมกล่าวว่า หลักการในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลังจากนี้ 3 เรื่องสำคัญได้แก่ 1.ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี นำมาใช้ในการทำงานและพัฒนาระบบและการทำงานษี 2.ด้านธุรกิจสีเขียว โดยอุตสาหกรรมและธุรกิจต้องพัฒนา ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ด้านตลาดทุน ก็ได้ออกพันธบัตรสีเขียว เพื่อสนับสนุนด้านนี้ด้วย 3.เรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ ที่เป็นภารกิจหลัก 3 ประการที่รัฐต้องดูแล