บิ๊กบลจ.บัวหลวงหนุนฟื้นการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ!?!หนทางธุรกิจยังมีมูลค่าและคือสมบัติชาติของคนไทย พีรพันธ์ฯส่งกำลังใจ “คนบินไทยสู้ๆ”

1616

1 ปีที่ผ่านมา การบินไทยมาไกลมากในด้านธุรกิจ ทั้งการลดจำนวนพนักงาน/ผู้บริหารลงไปกว่าครึ่ง ลดต้นทุนค่าเช่า/ค่าซ่อมเครื่องบิน โละเครื่องบินเก่าๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไป ทำให้ลดค่าใช้จ่ายต่อปีไปได้เกิน 30,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งยังเตรียมว่าจ้างผู้บริหารที่มีความสามารถระดับสากลเข้ามาเสริมกำลังหลังแผนอนุมัติ การฟื้นฟูด้านการเงินเท่านั้นที่ยังเป็นประเด็นที่ไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่มีกลุ่มคนที่หวังดีประสงค์ร้าย พยายามขยี้การบินไทย เพื่อให้รัฐบาลลอยแพและเสนอตั้งใหม่ โดยแกล้งลืมไปว่า ไม่ว่าการบินไทยจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ประเทศไทยต้องชดใช้หนี้ที่ก่อสะสมมากว่าแสนล้านบาท โดยรัฐบาลก่อนๆนักการเมืองเก่าๆที่ร่วมสร้างหนี้เป็นดินพอกหางหมู ยังลอยนวลไม่ต้องรับผิดชอบ

ปัญหาเหล่านี้ยังต้องแก้ไขกันต่อไป แต่จะไร้ความรับผิดชอบไม่ได้ สายการบินแห่งชาติชื่อ “การบินไทย” นี้ยังเป็นแบรนด์ที่ทรงคุณค่า” เป็นที่น่าเชื่อถือของนานาชาติ จะเตะทิ้งง่ายๆอ้างเป็นภาระ สายการบินทั่วโลกต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน หลายๆ สายการบินได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มองเห็นความสำคัญของสายการบินต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานในประเทศ และการฟื้นตัวหลังวิกฤต ยิ่งไปกว่านั้น บางรัฐบาลยังพร้อมจะสนับสนุนให้สายการบินสามารถแย่งชิงตลาดและขยายตัวได้เมื่อสถานการณ์ฟื้นกลับมา ทำไมจึงขยี้ให้เทการบินไทย หรือใครหวังส้มหล่นจากความย่อยยับของการบินไทยและพนักงานการบินไทย 15,000 คน??

ตัวอย่างสายการบินที่ได้รัฐบาลประเทศนั้นอุ้มเพราะได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่นสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ทำการเพิ่มทุนไปแล้ว 207,500 ล้านบาท (8,829 ล้านเหรียญสิงคโปร์) คาเธ่ย์ แปซิฟิก ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลฮ่องกง 109,200 ล้านบาท (27,300 ล้านเหรียญฮ่องกง) ลุฟท์ฮันซ่าได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน 333,000 ล้านบาท (9,000 ล้านยูโร) เป็นการเพิ่มทุน 222,000 ล้านบาท และ soft loan จากธนาคารของรัฐ 111,000 ล้านบาทเป็นต้น

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง (มาดามตู่) โพสต์เฟซบุ๊กเปิดมุมมองสนับสนุนให้รัฐบาลนำ “การบินไทย” กลับคืนเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งด้วยเหตุผลน่าฟังหลายประการ มีรายละเอียดดังนี้

“วันนี้แผนฟื้นฟูเดินทางมาได้มากแล้ว แต่นานาประเทศยังไม่ยอมปลดข้อจำกัดการเดินทาง ทำให้การบินไทยแทบขึ้นบินไม่ได้ แม้จะลดค่าใช้จ่ายต่อปีไปได้เกิน 30,000 ล้านบาทแล้ว และต้องการสภาพคล่องในช่วงที่ยังเผชิญโควิดในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้อีก 50,000 ล้านบาท ก่อนที่จะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566 ที่คาดว่าโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่มีการถกเถียงแนวทางการฟื้นฟูจากกูรูหลายท่านว่าควรขายทิ้งการบินไทยให้เอกชนหรือต่างชาติไปเลย รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก ฯลฯ

แต่ข้าพเจ้าเห็นต่างสายการบินแห่งชาติเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ”

การดำรงอยู่ของสายการบินแห่งชาติ เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP และการบินไทยก็เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ

หากเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พค นี้ การบินไทยก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไป และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกภายหลังธุรกิจการบินกลับมาเป็นปกติคือ ประเทศไทยจะไม่มีสายการบินแห่งชาติไว้รองรับความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งหากพิจารณาจากจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยในปี 2562 จะพบว่าสูงกว่า 24 ล้านคน

มีความจำเป็นอะไรที่แก้ไขไม่ได้เลยหรือ ถึงจะทำให้เราต้องยอมสูญเสียผู้โดยสารเหล่านี้ให้แก่สายการบินอื่นๆ  อีกทั้งผู้โดยสารชาวไทยก็ต้องไปอาศัยสายการบินอื่นๆ ในการเดินทาง  เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ เวียดเจ็ท หรือ ไทยไลอ้อนแอร์ ฯลฯ

หากปัญหาเกิดจากข้าราชการหรือนักการเมืองฉ้อฉลในการบินไทย หากเกิดจากบอร์ดหรือผู้บริหารและพนักงานการบินไทยไม่ได้คุณภาพ ก็จัดการเข้าสิ ทำไมต้องถึงกับเลิกสายการบินแห่งชาติที่เป็นของคนไทยทั้งมวล แล้วนำของดีไปขายให้คนอื่นยามนี้ในราคาถูกแสนถูก เช่นลดราคาไปตั้ง 70%-80% ด้วย

หรือจะทำเหมือนยุคต้มยำกุ้งปี 2540 ที่นำสินเชื่อที่อยู่อาศัย 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท ไปเร่งประมูลขายเพียง 190,000 ล้าน ด้วยหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์มากมายให้ผู้ซื้อ … ลดราคาไปตั้ง 77% 

ให้คนรับซื้อทั้งไทยและเทศได้ประโยชน์ยิ่งกว่าส้มหล่น   ในขณะที่สายการบินแห่งชาติของประเทศอื่นๆ ที่ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันเขายังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มองเห็นความสำคัญของสายการบินต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานในประเทศ และการฟื้นตัวหลังวิกฤต ยิ่งไปกว่านั้น บางรัฐบาลยังพร้อมจะสนับสนุนให้สายการบินสามารถแย่งชิงตลาดและขยายตัวได้เมื่อสถานการณ์ฟื้นกลับมาอีกด้วย … อย่าสายตาสั้น !

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว วันที่ 5 พ.ค.2564 ว่า 

“ถึงพนักงานการบินไทย…จากใจจริง ผมขอขอบคุณพนักงานการบินไทยทุกท่านและสหภาพแรงงานการบินไทยทุกแห่งที่มีน้ำใจ ให้กำลังใจ และเชื่อมั่นในตัวผมตลอดมา ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทจนมาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมพยายามเรียนรู้ปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลและการทุจริตของฝ่ายบริหารในอดีต รวมทั้งเรื่องความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย

แม้การทำงานของผมจะไม่ค่อยราบรื่น แม้จะตัวคนเดียว แต่ผมก็สู้และพยายามทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่เคยย่อท้อและไม่เคยผิดคำพูดที่ให้ไว้กับพนักงานแม้แต่ครั้งเดียว ผมเชื่อมั่นว่าการบินไทยจะเดินต่อไปได้หรือไม่ การฟื้นฟูจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่เพราะแผนฟื้นฟูดี หรือผู้บริหารเก่งมีชื่อเสียง แต่เป็นเพราะความร่วมมือร่วมใจและความมุ่งมั่นเป็นหนึ่งเดียวของพนักงานทุกคน แต่สิ่งนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้หากผู้บริหารไม่มีธรรมาภิบาล ไม่จริงใจ เล่นพรรคเล่นพวก และไม่ซื่อตรงในการบริหาร

ไม่ว่าท่านจะผ่าน หรือไม่ผ่านการคัดเลือกให้กลับมาเดินหน้าต่อกับการบินไทยด้วยเหตุผลใด และไม่ว่าวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เจ้าหนี้จะโหวตผ่านแผนฟื้นฟูให้หรือไม่ ผมก็ขอให้ทุกท่านมีกำลังใจ มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยดีทุกคน จงภูมิใจว่า ท่านเป็นส่วนหนึ่งของ “การบินไทย” สายการบินที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติมากว่า 60 ปี ไม่ว่าท่านจะได้รับคัดเลือกให้อยู่ต่อหรือไม่ ก็ไม่มีใครเอา “ความภูมิใจ” นี้ไปจากท่านได้ ผมขอเป็นกำลังใจและจะอยู่เคียงข้างพนักงานการบินไทยทุกท่านตลอดไป