เพนกวิน-อานนท์เครียดนอนคุก! ศูนย์ทนายฯชี้หากวืดประกันอีกจะถูกขังจนกว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด

5233

ในที่สุดก็กลับเข้าไปใช้ชีวิตในคุกอีกครั้ง สำหรับแกนนำม็อบคณะราษฎร จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับมาตรา112 ที่ศาลระบุชัดในการไม่ให้ประกันตัวเพราะทำความผิดซ้ำๆหลายครั้ง ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักกฎหมายฝ่ายผู้ชุมนุม รวมทั้งการปลุกระดมของกลุ่มคนดังกล่าวอีกครั้ง!?!

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564  โดยนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงถึงการสั่งคดีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน , นายอานนท์ นำภา , นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาที่ 1- 4 ซึ่งเป็นแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ซึ่งทั้งหมดคดีมี 2 สำนวน เรื่องแรก คดีชุมนุมม็อบเฟสมีผู้ต้องหารายเดียว คือนายพริษฐ์ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ป.อาญา ม.112 , ยุยงปลุกปั่นฯ ตาม ป.อาญา ม.116 และชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 ได้มีคำสั่งฟ้องทั้ง 3 ข้อหา

สำหรับอีก 1 สำนวน คือ คดีชุมนุม ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง ได้กล่าวหาผู้ต้องหาทั้งสี่ ในข้อหาตาม ม.112 , ม.116 , ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา ม.215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ , ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ , กีดขวางทางสาธารณะฯ , ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ , ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ , ทำลายโบราณสถานฯ , ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ทุกข้อหา

ส่วนที่ผู้ต้องหายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมนั้น พนักงานอัยการคดีอาญา 7 พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานที่ผู้ต้องหาจะให้สอบเพิ่มเติมนั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความเห็นและคำสั่งของอัยการ เนื่องจากในสำนวนมีพยานหลักฐานทำนองเดียวกันก็เพียงพออยู่แล้ว จึงไม่ดำเนินการตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา หลังจากนี้ทางพนักงานอัยการจะนำผู้ต้องหาทั้งสี่ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา

ทั้งนี้ นายประยุทธ ยังกล่าวอีกว่า ตาม ป.วิ.อาญา มีหลักสันนิษฐานคนที่อัยการฟ้องเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิด ในส่วนสำนวนคดี อัยการพิจารณาแล้ว ถ้าพยานหลักฐานพอฟ้องก็ฟ้อง ประเด็นที่พูดสามารถนำไปต่อสู้ในชั้นศาลได้

ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการคดีอาญา 7 ได้นำตัวนายพริษฐ์ ,นายอานนท์ ,นายสมยศ พร้อมหมอลำแบงค์ ซึ่งเป็น 4 แกนนำกลุ่มราษฎร มายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล โดยยื่นฟ้องรวม  2 สำนวน คือ คดีหมายเลขดำอ.286/2564 ยื่นฟ้องนายพริษฐ์ เป็นจำเลยเพียงคนเดียว กรณีระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย.63  นายพริษฐ์ ซึ่งเป็นแกนนำจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะบริเวณเวทีคอกวัว โดยยุยงผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 5,000คน ให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ราชินี และองค์รัชทายาท ตาม ม.112

ส่วนอีกสำนวนเป็นคดีหมายเลขดำอ.287/2546 พนักงานอัยการคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องนายพริษฐ์กับพวกรวม 4 คนเป็นจำเลย กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย.63 พวกจำเลยซึ่งเป็นแกนนำ จัดให้มีการชุมนุมบริเวณม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนาม โดยมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ20,000คน เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก ขอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ  และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลได้สอบคำให้การพวกจำเลยแล้วปรากฏว่า พวกจำเลยแถลงให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานคู่ความทั้ง2ฝ่าย โดยคดีดำอ.286/2564 นัดวันที่ 15มี.ค.เวลา09.00น. และคดีดำ อ.287/2564 วันที่ 15 มี.ค. เวลา 13.30 น.

ด้านทนายความจำเลยทั้งสี่ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด โดยศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวพวกจำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยกคำร้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายพริษฐ์กับพวกทั้งหมดไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลาประมาณ 18.34 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว นายพริษฐ์ นายอานนท์ นายปติวัฒน์ และนายสมยศ ส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทั้ง 4 มีสีหน้าเป็นกังวลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนายพริษฐ์ และนายอานนท์ แต่ก็ยังชู 3 นิ้วสื่อสารไปยังมวลชนที่อยู่ด้านนอก

ขณะที่ทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามและคอยช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้มาโดยตลอดก็ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า

คำสั่งไม่ให้ประกัน 4 แกนนำราษฎรของศาลอาญา มีลักษณะขัดต่อหลัก สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญา และรัฐธรรมนูญให้การรับรอง เสมือนศาลได้ “พิพากษา” จำเลยล่วงหน้า โดยยังไม่ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของคู่ความ

ทั้งนี้ กรณีจำเลยถูกขังระหว่างพิจารณาในชั้นศาล จำเลยจะถูกปล่อยตัวได้ก็ต่อเมื่อ

  1. ยื่นคำร้องขอประกันอีกครั้งและศาลอนุญาต หรือ
  2. ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว หรือ
  3. ศาลพิจารณาพิพากษายกฟ้อง

มีข้อสังเกตว่า การสั่งขัง สมยศ-อานนท์-ปติวัฒน์-พริษฐ์ เนื่องจากอัยการส่งฟ้องทั้ง 4 คน (ในสองคดี) เป็นการขังระหว่างการพิจารณาคดี  ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้ง 4 คน จะถูกขังจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

กระนั้นจากการตรวจสอบของทีมข่าวเดอะทรูธ  ป.วิ.อาญา ก็พบว่ามาจาก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแห่งประเทศไทย (ป.วิ.อ.) เป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในบรรดาประมวลกฎหมายที่รัฐบาลไทย แต่ครั้งที่ยังเรียกชื่อประเทศว่า “สยาม” เร่งผลิตใช้ เพื่อริเริ่มขอยกเลิกบรรดาสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำไว้กับต่างประเทศ อันมีผลให้สยามต้องเสียเปรียบในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเอกราชทางการศาล

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีโครงสร้างแบ่งเป็นเจ็ดภาค คือ ภาค 1 ข้อความเบื้องต้น, ภาค 2 สอบสวน, ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น, ภาค 4 อุทธรณ์ และฎีกา, ภาค 5 พยานหลักฐาน, ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม และภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ ตามลำดับ โดยตั้งแต่เริ่มมีผลใช้บังคับใน พ.ศ. 2478 จวบจนบัดนี้ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว

ทั้งนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ประกอบด้วยบทบัญญัติทั้งหมด เจ็ดภาค สิบสองลักษณะ และยี่สิบเอ็ดหมวด ซึ่งระบุเนื้อความสำคัญไว้ว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมี คําพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทําความผิดอันเป็นข้อสันนิษฐาน

สำหรับการกล่าวอ้างรัฐธรรมนูญ ทางทีมข่าวเดอะทรูธ ก็ตรวจสอบไปที่เนื้อหา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งก็พบใน มาตรา 29 ที่ระบุไว้ว่า

“บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้

คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”