ม.จ.จุลเจิมตั้ง6คำถาม ธนาธรจาบจ้วงหน้าบัลลังก์ศาล กับข่าวแว่วคนตัดสินเคยยกคำสั่งปิดกั้นวอยซ์?

5778

จากที่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 64 ที่ศาลอาญา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางมาเพื่อร่วมไต่สวนคำร้องคัดค้านของคณะก้าวหน้าที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งลบลิงก์ ตามคำขอกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยแพร่ภาพ-คลิปเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดพาดพิงสถาบันฯ

ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีนายธนาธร ที่ได้กล่าวถ้อยคำที่อาจจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อหน้าศาล โดยมีเนื้อหาว่า

“นักข่าวที่สนิทกันกับผมเล่าให้ฟังว่า​ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในขณะที่ไต่สวนคดีกระทรวงดีอีเอสขอปิดกั้น​ Facebook.live วัคซีนพระราชทาน​ ใครได้ใครเสีย​ ที่หน้าบัลลังก์ศาล​ นายธนาธร​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ ได้กล่าวถ้อยคำที่อาจจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ​ โดยขอพูดต่อหน้าศาล​ เป็นถ้อยคำที่ผมไม่ขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีก​

แต่ถ้อยคำนี้กล่าวหาใส่ร้ายพระเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นอนในความคิดของผมและผมเชื่อโดยสุจริตใจว่าวิญญูชนน่าจะคิดเช่นนี้เช่นกัน ผมได้สอบถามหลายท่านที่อยู่ในเหตุการณ์รวมถึงข้าราชการกระทรวงดีอีเอส​ ก็ยืนยันเช่นนี้​ ผมคิดว่าธนาธรไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดแทนคนไทยทั้งประเทศเช่นนี้​ และที่ผมโพสต์นี้ก็เพื่อที่จะปกป้องสถาบัน​ ผมต้องขอบคุณ​นักข่าวที่รักสถาบันที่แจ้งข่าวนี้ให้ผมทราบ​ พี่น้องประชาชนคิดอย่างไร”

ล่าสุดวันนี้ 8 กุมภาพันธ์ 2564  ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่ ก็ได้กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ที่ศาลในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ด้วยเช่นกัน โดยพบว่ามีความเกี่ยวโยงไปถึงคดียกเลิกปิดกั้นสื่อช่องหนึ่ง ซึ่ง ม.จ.จุลเจิม ได้ตั้งเป็นข้อคำถามไว้ดังนี้

“เนื่องมาจากวันที่ 4 ก.พ ที่ศาลอาญา …..ผมเองก็มีข้อสงสัย แต่ก็เคารพในศาล ผู้ทำงานในพระปรมาภิไธยเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนและวิญญูชนจะมีสิทธิ สงสัยเช่นนี้หรือไม่? ผมเองก็ประชาชน ขอตั้งคำถามนี้ไว้ให้ช่วยกันคิดหาคำตอบหกคำถาม ให้ผมหน่อย

หนึ่ง การที่ธนาธรกล่าวถ้อยคำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งหน้าบัลลังก์ศาล ถือว่าความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่?

สอง การที่ความผิดสำเร็จในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อหน้าบัลลังก์ ท่านตุลาการต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่ตักเตือนห้ามปรามหรือไม่? หรือทำหน้าที่แค่นั้นก็พอแล้ว?

สาม เหตุใดธนาธรจึงเหิมเกริมถึงเพียงนั้น? พระเจ้าแผ่นดินทรงไปทำอะไรให้ธนาธรโกรธ แค้นอาฆาตไม่หยุดหย่อนได้ขนาดนั้น?

สี่ การที่ธนาธรแก้ตัวในศาลว่าเจตนาตำหนิรัฐบาลเพื่อปกป้องสถาบัน แต่กลับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อหน้าบัลลังก์อีกครั้ง จะเป็นเครื่องชี้เจตนาของธนาธรว่าเป็นไปในทางใดได้หรือไม่?

ห้า การที่ธนาธรอ้างประชาชน ผมก็ประชาชน ไม่อาจจะเห็นด้วยกับธนาธร และผมก็เชื่อว่าประชาชนชาวไทยจำนวนมาก ก็ไม่ได้เห็นด้วยเลยกับธนาธร ประชาชนมีสิทธิ์คิดต่างจากธนาธรหรือไม่?

“และการที่ธนาธรแอบอ้างประชาชนนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือไม่”?

หก การปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้หน้าบัลลังก์ ทำให้ประชาชนอาจจะสงสัยได้ เพราะมีข่าวแว่วมาว่า คนตัดสิน (??)  เป็นคนเดิมที่เคยยกคำสั่งปิดกั้นวอยซ์ทีวี และทราบมาว่าใช้ทนายความชุดเดียวกันกับวอยซ์ทีวีในคดีนี้ด้วย ?

อย่าเพิ่งลุกจากที่นั่งกันครับ ดูหนังตอนจบ เพราะอาจจะเป็นผู้กำกับคนเดียวกัน กับเรื่องวอยซ์ทีวี ไหมเอ่ย ? ถึงปากกล้ากล่าวถ้อยคำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหน้าบัลลังก์ศาล ถ้าใช่ สวัสดีประเทศไทย และคนไทย ขอบพระคุณมากครับ”

นั่นคือข้อถ้อยของม.จ.จุลเจิม ที่ตั้งคำถามเป็นข้อสงสัยออกมา ดังนั้นเองจึงต้องไปตรวจสอบถึงกรณีวอยซ์ทีวี รวมทั้งประเด็นทนายความที่ม.จ.จุลเจิม ตั้งเป็นข้อสงสัยว่าคดีความดังกล่าวเป็นมาอย่างไร ซึ่งทีมข่าวเดอะทรูธ ขอตรวจสอบตามการตั้งคำถามที่น่าสนใจให้สังคมได้รับทราบ

ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำสั่งภายหลังการไต่สวนกรณีศาลมีคำสั่งปิดเว็บไซต์ Voice TV เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับตำรวจ ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบและระงับ 4 สำนักข่าวออนไลน์ กับเพจเยาวชนปลดแอกของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสารมาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 20 ก็ดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548มาตรา 9 (3) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นี้ ระบุว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หมายถึงข้อมูล ข้อความ ในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาล ห้ามโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 20 (1)-(3) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นรายข้อความ

ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (3) ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วว่าขัดต่อกฎหมาย กฎหมายหาได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชนทั้งช่องทาง ซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกั้นการเข้าถึงทางเทคนิคนั้นเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย

ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 12 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี, สำนักพิมพ์ประชาไท, The Reporters, The STANDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบต่อไปของทีมข่าวเดอะทรูธ ยังพบอีกว่าทนายความของนายธนาธร ในคดีไต่สวนขอศาลยกเลิกคำสั่งลบลิงค์ไลฟ์สดเรื่องวัคซีนนั้นพบว่าเป็น นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์  2564 ก็ได้เดินทางมาพร้อมนายธนาธร โดยได้กล่าวช่วงหนึ่งถึงคดีว่า ได้เตรียมพยานหลักฐานมาพอสมควร แต่ต้องรอดูพยานหลักฐานฝั่งผู้กล่าวหาก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่มองว่าเรื่องนี้ ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนก็ได้ เพราะเจตนาของนายธนาธรคือต้องการจะปกป้องประชาชนจากนโยบายที่อาจจะผิดพลาดของรัฐบาล

ขณะที่ทีมข่าวเดอะทรูธ ตรวจสอบไปที่ทนายความของวอยซ์ทีวี ก็พบว่าในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 วันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้น ทางทนายความก็ได้เดินทางมาด้วย นั่นคือ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.)ซึ่งเป็นทนายความของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ก็ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปิดข้อมูลสื่อของกระทรวงดิจิทัล

นอกจากนี้การตั้งคำถามของม.จ.จุลเจิม ยังมีถึงตุลาการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาด้วย ในประเด็นที่มีการให้ประกันตัวผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ออกมาทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยในฐานะประชาชนที่เกิดความสงสัยหลายๆประการ ซึ่งในครั้งนี้มีการตั้งข้อสงสัย 8 ข้อ เช่น

ข้อที่หนึ่ง การที่ตุลาการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการประกันตัว แล้วออกมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ถือว่าตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ อย่างไร

ข้อสี่ การที่ตุลาการได้ถวายสัตย์ปฎิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย แต่กลับปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ได้รับการประกันตัว ออกมากระทำผิดในการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติองค์พระประมุขของชาติ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการสมควรหรือไม่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่กลับไม่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการรักษาความยุติธรรม ตามหน้าที่ให้ดี เคร่งครัด และเป็นธรรม

ข้อห้า ตุลาการได้รักษาหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ได้อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมสักแค่ไหน การได้รับการประกันตัวเป็นส่วนมากหรือแทบทั้งหมด ประชาชนหรือสังคมอาจจะตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า การกระทำของตุลาการดังกล่าวมีส่วนที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เพราะไม่เกรงกลัวว่าจะต้องได้รับโทษคุมขัง จึงทำให้ผู้กระทำผิดและผู้ที่ตั้งใจกระทำความผิดซ้ำตามมาตรา 112 เกิดความย่ามใจ ไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษ เลยทำผิดซ้ำได้อย่างสบายใจ

ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบและผมเองวิจารณ์กระบวนการทำงานของตุลาการโดยหลักวิชาการ และความสุจริตใจ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ประเทศชาติ และต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักชัยของความมั่นคงของชาติไทย”