จตุพร ออกโรงเตือน รัฐบาลอย่าเสียโง่ เชื่อแก๊งส้ม เคลื่อนไหว รัฐประหารพม่า

3188

จากกรณีที่ กลุ่มเยาวชนปลดแอก และการ์ดวีโว่ ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา โดยกลุ่ม We Volunteer ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊ก นัดหมายชุมนุมประท้วงประณามการรัฐประหารในประเทศเมียนมาที่บริเวณ หน้าสถานทูตเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

ในวันดังกล่าวมีประชาชนชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง เดินทางมารวมตัวกันเพื่อแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ที่บริเวณหน้าสถานครราชทูตเมียนมา เขตยานนาวา ซึ่งนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำม็อบราษฏร และแนวร่วมกลุ่ม WeVo นำโดยนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ มาร่วมอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการรัฐประหารในพม่า ก่อนจะเกิดเหตุจลาจลเกิดขึ้นจนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และการ์ดวีโว่

ขณะเดียวกัน เหล่าก๊วนก้าวหน้าก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ด้วย โดยพยายามกดดันรัฐบาลไทยให้แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์เกี่ยวกับรัฐประหารเมียนมา โดยระบุว่า “การรัฐประหารในพม่าเป็นสัญญานอันตรายของการขัดขวางกระแสลมแห่งประชาธิปไตยในภูมิภาค ตราบใดที่หลักการรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอยู่เหนือกองทัพ ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ รัฐประหารโดยกองทัพย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เสียดายความคืบหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนพม่าร่วมกันสร้างขึ้นมา #SaveMyanmar”

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนชาวพม่าผู้เชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตย นักการเมือง นักประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน จะยืดหยัดต่อสู้กับเผด็จการ และนำพาประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยให้ได้ในที่สุด”

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ ช่อ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความลงบนทวิเตอร์ ระบุว่า “ทหารเมียนมาตัดสินใจรัฐประหารอีกครั้ง หลังจาก 10 ปีของการปล่อยให้มีการเลือกตั้ง และ 5 ปีของการบริหารประเทศของอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากเสียงประชาชนอย่างแท้จริง 5 ปีที่ผ่านมาเมียนมาพัฒนาขึ้นในหลายด้าน สิ่งเดียวที่ทำให้การพัฒนานั้นต้องหยุดลงคือการที่ซูจีพยายามผลักดันปฏิรูปกองทัพ”

“ขอประณามการกระทำของมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา การกระทำของเขาในวันนี้พิสูจน์ชัดว่าทหารไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อพิทักษ์ประเทศและประชาชนตามที่อ้าง แต่ต้องการผูกขาดอำนาจไว้ที่เหล่านายพล รักษาอำนาจตัวเอง แทนที่จะให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งบริหารประเทศอย่างอิสระ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊กไลฟ์ peace talk ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยกับพม่านั้น ทั้งสองประเทศคงหนีวังวนจาก การรัฐประหารกับประชาธิปไตยไม่พ้น แม้พม่าไม่มีระบบกษัตริย์ แต่ถูกปกครองด้วยระบบทหารมายาวนานร่วมครึ่งศตวรรษ (50 ปี) แล้ว พล.อ.มิน อ่อง หล่าย มานำรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่ คือ ทหารยึดอำนาจเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับทหารกำหนดขึ้นเอง ดังนั้น ถึงกองทัพจะสัญญาอยู่ไม่นาน แต่คงเชื่อมั่นเป็นสัจจะของทหารยึดอำนาจได้ยากยิ่ง

อีกทั้ง การแสดงปฏิกิริยาไม่ยอมรับการรัฐประหารของคนพม่าในไทยนั้น เป็นการแสดงออกหน้าสถานทูตพม่าและยุติลงตามเวลาที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม รัฐไทยไม่ควรแสดงออกในการปกป้องการ รัฐประหารของทหารพม่า เพราะนั้นเป็นการแสดงความโง่สิ้นเชิง โดยตำรวจตั้งแถวสลายการชุมนุมหน้าสถานทูตพม่า ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่ไม่ขัดขวางสกัดกั้น ขณะที่การตั้งแถวใช้กำลังสลายการชุมนุมในไทย จึงเป็นความผิดพลาดอย่างที่สุด

“ในทางการเมืองรัฐไทยไม่ควรตีโง่อย่างไม่จำเป็นเลย โดยไม่ระมัดระวังในท่วงทำนองจึงเกิดภาพว่า รัฐบาลไทยยุคนี้ ออกมารับหน้าแทนกองทัพทำรัฐประหารในพม่า”

นายจตุพร โยงถึงการแก้รัฐธรรมนูญในไทยว่า ยังเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ที่จะเดินไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 อีกครั้ง และยังเป็นความยากที่จะประสบความสำเร็จ อีกอย่างความหวังให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คนนั้น คงสะท้อนถึงการเมืองแบบลับลวงพราง ดังนั้น รูปแบบการเมืองไทยขณะนี้จึงดูเหมือนเป็นต้นแบบการรัฐประหารของพม่า ทั้งเนื้อหาและการใช้ภาษาที่ไม่แตกต่างกัน จึงเชื่อว่า คณะทหารพม่าจะกระชับอำนาจไปต่อเนื่องตามรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมา ซึ่งไม่แตกต่างกับเผด็จการในไทยที่ใช้พฤติกรรมสังคมมาสร้างดราม่าทางการเมืองขึ้น

โดยเฉพาะ การเรียกเก็บเบี้ยผู้สูงอายุคืนนั้น ไม่แตกต่างจากการสร้างดราม่าทางการเมืองของเผด็จการที่เข้าใจสังคมไทยดี โดยเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่รุกกดดันเข้มข้นต่อผู้สูงอายุให้คืนเงินที่ไม่ควรได้ จึงเกิดเสียงโวยวายทางสังคมขึ้น แล้วที่สุดมาลงท้ายด้วยการหักมุมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาแก้ไขปัญหา ประกาศจะจัดการให้ ขอผู้สูงอายุอย่าได้กังวล และได้เสียงชื่นชม ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ไม่ควรเป็นดราม่าเหมือนละครน้ำเน่าเลย เพียงรัฐดำเนินงาน สั่งการด้านลึกก็เสร็จสิ้น ดังนั้น สิ่งที่สงสัยคือ รัฐบาลดราม่าทำไม และคำตอบคงเป็นเพราะเผด็จการเข้าใจการเมืองในสังคมไทยดีนั่นเอง

ส่วนรัฐประหารในพม่านั้น ผู้นำกองทัพประโคมการโกงเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ กกต.พม่า แต่กองทัพกลับส่งเสียงกดดัน ไม่ยอมให้มีการโกงเลือกตั้งได้เข้าสู่สภา ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ กกต.ปล่อยให้ทำหน้าที่ไปก่อนแล้วสอยกันที่หลัง ส่วนพม่ายึดเป็นเหตุสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ

เมื่อพิจารณาการเมืองของ นางออง ซาน ซูจี ที่ยอมเสียภาพลักษณ์ในการปราบปรามชาวโรฮิงญาต่อสายตาโลก นั่นสะท้อนถึงการแลกกับความนิยมในการเมืองภายในประเทศ จนได้รับการเลือกตั้งถล่มทลาย มีชัยชนะเหนือฝ่ายกองทัพอย่างมากมาย ดังนั้น กองทัพพม่ายอมให้อยู่ในอำนาจอีกต่อไปไม่ได้ เพราะยิ่งทำให้กองทัพจะถูกลดถอนอำนาจลงต่อเนื่อง

“ด้วยเหตุนี้ การยึดอำนาจจึงเป็นเล่ห์เพทุบาย เป็นการหาเหตุมายึดอำนาจเท่านั้น โดยเฉพาะรูปแบบการยึดอำนาจเอาแบบไทยชนิดถอดแบบ แม้ประกาศอยู่ไม่นาน แต่นั่นเป็นเพียงนำมาอ้าง เพื่อผ่อนคลาย หนีแรงต้านสูงของสังคม”

หลายสิ่ง หลายรูปแบบที่สะท้อนออกมาในการเมืองของพม่ากับไทยนั้น บ่งบอกถึงต้องอยู่กับความล้าหลังอีกยาวไกล ทั้งที่ในหลายเรื่องไทยควรเดินไปไกลกว่านี้ ตนยังเชื่อจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยต้องอาศัยพลังประชาชนมาเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงเพื่อทลายกำแพงกั้นความล้าหลังในทางการเมืองของไทย