จากกรณี วันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 230 ราย
โดยแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 209 ราย และในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 21 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 11,680 ราย ยอดหายป่วยสะสม 8,906 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 70 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นชายอายุ 67 ปี จ.กทม. ยังไม่ทราบประวัติโรคประจำตัว วันที่ 21 ธ.ค.ไปสถานบันเทิง ไปสถานบันเทิงซ้ำวันที่ 23ธ.ค. ต่อมาวันที่ 24-27 ธ.ค.มีอาการไข้ ไอ เสมหะ และวันที่29 ธ.ค.ทราบว่ามีพนักงานสถานบันเทิงติดโควิด วันที่ 30 ธ.ค.จึงไปตรวจพบติดเชื้อ จากนั้นมีการปอดอักเสบ มีไตวายเฉียบพลัน เสียชีวิตวันที่ 14 ม.ค
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับรายงานการดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ให้ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ร่วมกับฝ่ายปกครองและสาธารณสุข บูรณาการงานสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะจังหวัดเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามแล้วหลายพื้นที่ โดยข้อมูลจาก ศปก.ศบค. รายงานว่าได้มีการ ประสานจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของกองทัพแล้ว จำนวน 10 แห่ง 2,106 เตียง โดยแบ่งเป็นพื้นที่กองทัพบก 6 พื้นที่ จำนวน 1,260 เตียง กองทัพอากาศ 1 พื้นที่ จำนวน 120 เตียง และกองทัพเรือ 3 พื้นที่ จำนวน 726 เตียง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนได้เข้าใจว่า โรงพยาบาลสนามเป็นการจัดตั้งที่พัก สำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ในพื้นที่ที่มีการควบคุมเท่านั้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้สาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานความมั่นคง ดูแลผู้ป่วยและประชาชนที่เข้ามาใช้โรงพยาบาลสนาม ปฏิบัติตามขั้นตอนระบบการรักษาและเฝ้าระวังโรคเช่นเดียวกับในโรงพยาบาล ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ยังเป็นภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งชาวไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรียังฝากชื่นชมภาคเอกชนในหลายพื้นที่ที่ได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม สะท้อนความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาคประชาชนและรัฐบาลตามแนวทาง “รวมไทย สร้างชาติ ต้านภัยโควิด-19” ให้เป็นวัคซีนประเทศนำไทยชนะภัยโควิด-19 ด้วย
ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยมีบาง
ส่วนที่น่าสนใจคือ
” ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเต็มที่ เพราะการระบาดครั้งนี้กระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง แต่ไปถึงคนทั่วไปที่ดำรงชีวิตประจำวันในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงในที่ทำงาน
ยิ่งล่าสุดงานวิจัยใน JAMA ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาในวันที่่ 7 มกราคมที่ผ่านมานี้ ประมาณว่า 59% ของการติดเชื้อทั้งหมดเกิดจากการแพร่เชื้อของคนที่ติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการ ยิ่งเป็นตัวตอกย้ำให้เราระวังการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะมีโอกาสรับเชื้อจากคนที่เราใกล้ชิด หรือเราเองอาจมีการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวและไปแพร่ให้ครอบครัว เพื่อนฝูง
การจะตัดวงจรระบาดนี้ได้ ต้องจำกัดการเคลื่อนไหวของคนอย่างเข้มข้นเพียงพอ ควบคู่ไปกับรณรงค์การป้องกันของทุกคน และเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อแฝงในประเทศครับ
ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อตัวคุณ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้าน ไม่ควรกินดื่มในร้านหากไม่จำเป็น และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ให้รีบไปตรวจรักษา”
ขณะเดียวกัน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ดังนี้
“วัคซีน covid 19
จากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมา ประสิทธิผลของวัคซีน จะออกมาในรูปของการป้องกัน ลดความรุนแรงของโรค
ลดอาการของโรคไม่ให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือ ถ้าเป็นก็ให้มีอาการน้อยที่สุด
การศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ศึกษาถึงการป้องกันการติดโรค หรือการป้องกันการติดแบบไม่มีอาการ
ดังนั้นการให้วัคซีนขณะนี้ จึงมุ่งเน้นลดความรุนแรงของโรค
กลุ่มผู้ที่จะได้รับวัคซีนในขณะนี้ จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคแล้วจะเกิดอาการรุนแรง เสียชีวิต
ต้องรอดูข้อมูลในอนาคต ถ้าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ถึงแม้จะไม่มีอาการ
การให้วัคซีนก็จะมุ่งเน้นไปหากลุ่มที่จะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ
แต่แพร่เชื้อได้ หรือผู้ที่มีอายุน้อยนั่นเอง
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน covid 19 ในปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ และเสร็จสิ้น เพราะต้องการเอามาใช้ก่อน
ต้องการข้อมูลเฉพาะเรื่องมาก่อน รายละเอียดทั้งหมดคงต้องรอการวิเคราะห์ และศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวต่อไป
เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะมีข้อมูลใหม่ๆออกมา เมื่อมีข้อมูลใหม่ออกมา กลยุทธ์ในการฉีดวัคซีน อาจเปลี่ยนไปก็ได้
เช่นให้กลุ่ม ติดโรคได้ง่าย วัยแรงงาน แล้วเอาไปแพร่กระจายให้ผู้อื่น
ดังนั้นในปัจจุบันนี้จากข้อมูลปัจจุบัน กลุ่มที่ควรจะได้รับวัคซีนจึงยังเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงมากกว่าที่จะให้ในกลุ่มที่กระจายเชื้อได้ง่าย เช่นในวัยหนุ่มสาว วัยแรงงาน ที่แข็งแรง”