จีนแสดงความยินดีกับ “ไบเดน-แฮร์ริส”!?! แจงเคารพการตัดสินใจเลือกของชาวอเมริกัน

2511

จีนตอกหน้าทรัมป์ แสดงความยินดีกับไบเดนและแฮร์ริสแล้ว หลังสงวนท่าทีมาระยะหนึ่ง แจงเคารพการตัดสินใจเลือกของชาวอเมริกัน หลังทรัมป์ออกคำสั่งห้ามนักลงทุนสหรัฐลงทุนบริษัท 31 แห่งที่เอี่ยวกองทัพจีน ทิ้งทวนก่อนหมดอำนาจ แม้ผลการเลือกตั้งยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่การอาละวาดของทรัมป์ทั้งภายในประเทศและกับจีน ยิ่งทำให้ไบเดนโดดเด่นในเวทีสากลมากยิ่งขึ้น

กระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงแสดงความยินดีที่นายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2563 ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมทั้งแสดงความยินดีต่อวุฒิสมาชิกคามาลา แฮร์ริส ที่คว้าชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ได้นั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดีสหรัฐ

นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวว่า“เราเคารพการตัดสินใจและการเลือกของชาวอเมริกัน และขอแสดงความยินดีต่อนายไบเดนและนางแฮริสที่คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีนี้”

แถลงการณ์จากกระทรวงต่างประเทศของจีน มีขึ้นหลังจากนายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจากผู้นำหลายประเทศทั่วโลก ในขณะที่กำลังเตรียมกระบวนการส่งมอบอำนาจจากประธานาธิบดีทรัมป์ ก่อนจะถึงพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.

คณะทำงานส่งมอบอำนาจประธานาธิบดีของนายไบเดน และ ส.ว. แฮร์ริส เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (12พ.ย.)ว่า นายไบเดนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายสก็อตต์ มอร์ริสันนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อวันพุธ(11พ.ย.) โดยทุกคนต่างแสดงความยินดีต่อชัยชนะของนายไบเดน

นอกจากนั้น ผู้นำประเทศพันธมิตรของสหรัฐดังกล่าวยังได้หารือกับนายไบเดนในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การระบาดของโควิด-19 และการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง ก่อนหน้านี้ นายไบเดนได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจากผู้นำอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ตุรกี และไอร์แลนด์

ทรัมป์ต้องไม่ชอบสิ่งนี้

โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก โดยนายไบเดนได้กล่าวขอบคุณสมเด็จพระสันตะปาปาที่ทรงอำนวยพรและแสดงความยินดี

“ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐได้แสดงความปรารถนาที่จะทำงานด้วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือพลเมืองชายขอบและผู้ยากไร้ การแก้ไขวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปิดรับและให้ความช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมของเรา ภายใต้ความเชื่อที่มีร่วมกันว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน” ข้อความจากการสนทนาเผย

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสนับเป็นผู้นำโลกคนล่าสุดที่ตอบรับการเข้ามาบริหารงานในอนาคตของนายไบเดน การสนทนาระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ข้องใจในความโปร่งใสของการเลือกตั้งประธานาธิบดี และได้ยื่นฟ้องในรัฐสมรภูมิ (Battleground State) เนื่องจากปธน.ทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แม้ว่านายไบเดนได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งสูงกว่าก็ตาม

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา สำนักวาติกันได้ปฏิเสธนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐไม่ให้เข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส โดยสำนักวาติกันระบุว่า นายปอมเปโอ ซึ่งเดินทางมาเพื่อปฏิบัติภารกิจทางการทูต หวังใช้การเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อเรียกคะแนนเสียงก่อนวันเลือกตั้งของคณะทำงานปธน.ทรัมป์ คณะบริหารของปธน.ทรัมป์มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันกับสำนักวาติกันในหลายประเด็น และเรียกร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปามีท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีน

ฟาดหางทิ้งทวนกับจีน

วันที่ 13 พ.ย.2563 ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี สั่งห้ามนักลงทุนสหรัฐอเมริกา ลงทุนในบริษัทจีนที่รัฐบาลสหรัฐระบุว่า เป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมโดยกองทัพจีนจำนวน 31 บริษัท ซึ่ง จะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป

บริษัทของจีนที่อยู่ในบัญชีดำมีทั้งหมด 31 แห่ง ได้แก่ บริษัทที่ทำธุรกิจด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีด้านอวกาศ และธุรกิจก่อสร้าง นักลงทุนจะมีเวลาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2021 ในการถอนตัวออกจากบริษัท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ของจีนรวมถึงหัวเว่ย, ฮิควิชัน, ไชน่าเทเลคอม และไชน่าโมบายล์

โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ระบุว่า รัฐบาลจีนเอาเปรียบนักลงทุนสหรัฐฯเพื่อจัดหาเงินทุนในการพัฒนาและปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย พร้อมอ้างว่า บริษัทจีนถูกบังคับให้สนับสนุนกองทัพและกิจกรรมข่าวกรอง ขณะเดียวกันบริษัทจีนก็พยายามระดมเงินทุนด้วยการขายหลักทรัพย์ให้นักลงทุนสหรัฐฯ