ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ.แจ้งวัฒนะ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัยกรณีพรรคก้าวไกล มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
จากกรณีการแสดงความเห็นทางการเมือง การเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม และการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึงมาตรา 112
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตลอดจนการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับไอลอว์ ซึ่งการกระทำของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 45 และมาตรา 92 (2) (3) จึงขอให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัย และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
นายณฐพร กล่าวว่า ที่มายื่นร้องกกต.เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีการกระทำใน 2 ประเด็น คือ ยุยงส่งเสริม สนับสนุนให้มีการชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และมีการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 มีการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งการกระทำเหล่านี้ตนได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานมานาน และมีหลักฐานครบทั้งหมด จึงมายื่นให้ กกต.พิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นความผิดที่สามารถสั่งยุบพรรคได้หรือไม่ ยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นการตรวจสอบการทำงานของพรรคการเมือง ในฐานะประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 51 กำหนด
ส่วนที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าการประกันตัวผู้ต้องหาและการเสนอแก้ไขกฎหมายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ตนขอถามกลับว่าหากตนไปหมิ่นประมาท แม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.พรรคก้าวไกลจะประกันตัวให้ตนหรือไม่ ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 การเป็นนักการเมืองจะทำอะไรก็ต้องศึกษา ว่ามาตราดังกล่าวมีผลร้ายต่อประเทศและประชาชนอย่างไร และกฎหมายมาตรานี้ไม่ใช่เพิ่งมีแต่มีมานานแล้ว และทั่วโลกก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุข เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามาชุมนุมกัน ซึ่งการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เพียงเรื่องการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีการโยงใยไปถึงการล้มล้างระบอบการปกครองซึ่งเรามีหลักฐาน
“พฤติกรรมหลาย ๆ อย่างที่ทำมา มันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างเช่น หัวหน้าพรรคก้าวไกลยื่นประกันตัวทนายอานนท์ นำภา ที่ละเมิดต่อมาตรา 6 ของกฎหมายอาญา ซึ่งการไปประกันตัวบุคคลพวกนี้ถือว่าละเมิดหรือไม่ แม้จะอ้างว่าศาลยังไม่ตัดสิน แต่ความผิดซึ่งหน้ามันชัดเจนว่าทำผิด และยังมีการละเมิดสิทธิบุคคลอย่างกรณีสถาบันถูกละเมิดอย่างแรงกรณีการฉีกรูปพระบรมฉายาลักษณ์ อย่างไรก็ตาม บอกได้เลยที่มายื่นวันนี้หลักฐานชัดเจน ไม่มีหลักฐานที่คุลมเครือ อันไหนที่ต้องตีความกันเราไม่ยื่น เอกสารหลักฐานต่างๆเราขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเรื่องการโอนเงินก็มีหลักฐานว่าพวกที่ชุมนุมได้เงินจากใคร ใครโอนเงินให้ ใครจ่ายเงินให้ จ่ายเงินที่ไหน เรามีหลักฐานครบทุกอย่าง ทั้งนี้เราเชื่อว่าเราจะพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าที่เรายื่นไม่ได้กลั่นแกล้ง แต่มีหลักฐานเพียงพอ” นายณฐพร กล่าว
นายณฐพร ยังยืนยันว่าการยื่นยุบพรรคก้าวไกลในวันนี้ไม่ได้โกรธแค้นส่วนตัวกับใคร แต่ทำในฐานะประชาชนที่มีหน้าที่และได้รวบรวมพยานหลักฐานมานาน ซึ่งก่อนหน้านี้ก่อนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญตนก็ยื่นเสนอศาลรัฐธรรมนูญทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เราเอากฎหมายเป็นหลัก บ้านเมืองมีกฎหมายถ้าเรายกการบังคับใช้กฎหมายให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ต้องจ้องยุบพรรค เพราะมีกฎหมายชัดเจนในการทำหน้าที่ ส.ส.ไม่ใช่จ้องล้มล้างสถาบันเพื่อจะเอาใจคนใดคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติด่วนขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในหมวดที่ 1 ซึ่งเป็นหมวดทั่วไป และหมวดที่ 2 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงข้อเสนอ 10 ข้อของนักศึกษาที่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยนั้น
การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดดังกล่าว ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างมาก และเป็นการก้าวล่วงที่มิควรเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เคยปฏิญาณตนว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
ซึ่งการจะยื่นญัตติเพื่อขอแก้ไขหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเหมาะสมดีอยู่แล้วนั้น เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิด พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.92(2) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น นั่นคือ “กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข”
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.255 ประกอบ ม.256 จะเป็นตัวกำกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว แต่การเปิดช่องให้มีการแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 เพื่อยกขึ้นมาถกเถียงแล้วนำไปสู่การการแก้ไขหมวดดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้พรรคร่วมฝ่ายค้านหลักได้ยื่นญัตติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว โดยไม่แตะต้องหมดที่ 1 และหมวดที่ 2 เลย แต่การให้สัมภาษณ์ของ สส.พรรคก้าวไกลดังกล่าว ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงพฤติการณ์และการกระทำอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตาม พรป.พรรคการเมือง 2650 ม.93 เพื่อยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม ม.92 ว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งถ้า กกต.ตรวจสอบแล้วว่าเข้าข่าย ก็สามารถเสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคดังกล่าวต่อไป และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทําดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นที่สุดต่อไป
ทั้งนี้หาก ส.ส. รายใดและพรรคการเมืองพรรคใด ร่วมลงชื่อยื่นญัตติแก้ไขหมวดดังกล่าว ก็จะต้องถูกตรวจสอบตามไปด้วย