นิชา เปิดคำพิพากษาคดีร่มเกล้า! เป็นที่ประจักษ์ชายชุดดำยิงทหารโดยใช้อาวุธสงครามร้ายแรง

2725

จากที่วันนี้ 1 กุมภาพันธ์ 2564  ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม กับลูกน้อง หมายเลขดำ อ.857/2562 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ1 และนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องที่เรียกกันว่าชายชุดดำ

ทั้งนี้จำเลยคือ นายสุขเสก หรือเสก พลตื้อ, นางพรกมล บัวฉัตรขาว หรือนางกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการทีวีสถานีประชาชน ช่องเอเชียอัพเดต และนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นฯ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

โดยโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2552 – 20 พ.ค. 2553 กลุ่ม นปช. ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ลาออกจากตำแหน่ง จนวันที่ 7 เม.ย. 2553 นายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ บริเวณ ถ.ราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยกคอกวัวมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 1 และ 3 กับพวกร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ M.67 คนละ 3 ลูก ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน และจัดหาระเบิดให้ โดยพวกจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นด้วยการขว้างระเบิดสังหาร 2 ลูก ใส่เจ้าหน้าที่ทหารขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รอ.(ขณะนั้น) กับนายทหารรวม 5 นายเสียชีวิต และมีนายทหารอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยพวกจำเลยให้การปฏิเสธ  วันนี้ศาลเบิกตัวนายสุขเสกและนายสุรชัย จำเลยที่ 1, 3 จากเรือนจำมาศาล ส่วนนางพรกมลที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล

ขณะที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาที่มีการบรรยายพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบอย่างละเอียดแล้ว คำเบิกความพยานโจทก์มีข้อพิรุธ อ้างเป็นผู้ติดตามจำเลยแต่ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ไม่รู้จักกลุ่ม นปช. ไม่มีแรงจูงใจทางการเมือง เชื่อว่าให้การทั้งที่ไม่รู้เห็น แต่ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าโครงการคุ้มครองพยาน ประจักษ์พยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ และศาลพิจารณาคำฟ้องจำเลยเปรียบเทียบกับคดี นปช.ก่อการร้าย ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกัน มูลเหตุช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นการฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-3

ต่อมาในวันเดียวกันนี้ นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า

ขอบคุณทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาให้ในวันอ่านคำพิพากษาคดีพลเอกร่มเกล้าในวันนี้ค่ะ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่จากคำพิพากษาก็เป็นที่ประจักษ์ว่ามีกลุ่มคนที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ทหารจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยใช้อาวุธสงครามร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่จริง มีการโยนระเบิด M67 จากบ้านไม้ถนนดินสอมายังกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร จึงไม่ใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธตามที่กล่าวอ้างมาตลอด

อย่างไรก็ตามสำหรับการฟ้องคดีชายชุดดำยังมีส่วนคดีที่แยกออกไป โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีชายชุดดำ หมายเลขดำ อ.4022 /57 ที่ พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี  อายุ 48 ปี นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 27 ปี นายรณฤทธิ์  หรือนะ สุริชา  อายุ 36 ปี นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย อายุ 48ปี  และนางปุณิกา หรืออร ชูศรี  อาย 42 ปี ซึ่งเป็นการ์ด นปช. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 – 5 ตามลำดับฐานกระทำผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน และวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกให้ได้ ตาม พ ร.บ อาวุธปืน พ.ศ.2490

“กรณีเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 เวลากลางคืนจำเลยทั้งห้ากับพวก ร่วมกันมีอาวุธปืนปืนเอ็ม 16 ปืนเอชเค 33  หรือปืนอาก้า และเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่เจ้าหน้าที่ ทหาร ที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนตะนาว เขตพระนคร และบริเวณใกล้เคียง.เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ หลายราย เหตุเกิดแขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กทม.  ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และเครื่องกระสุน ฯ พ.ศ. 2490 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ”

ศาลพิเคราะห์ คำเบิกความ และพยานหลักฐาน ที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  ฟังได้ว่า นายกิตติศักดิ์ และนายปรีชา จำเลยที่ 1 และ 2 กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 – 5 พยานหลักฐานโจทก์ ยังมีความเคลือบแคลงน่าสงสัย  น้ำหนักน้อยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยที่ 3 – 5 ไว้ระหว่างอุทธรณ์