จากกรณีที่ ก่อนหน้านี้ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Charnvit Kasetsiri ระบุว่า…Congratulations again 112 ยิ่งใช้ ยิ่งดี หรือยิ่งเสื่อม 112 lese majeste law: the more the better or worse? 112 ยิ่งใช้ ยิ่งดี หรือยิ่งเสื่อม 112 lese majeste law: the more the better or worse?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ระบุว่า รำคาญคำถามของคุณชาญวิทย์เหลือเกิน ต้องขอตอบสักหน่อย!!! เป็นครูบาอาจารย์คน ควรทำตัวอย่างให้คนอื่นยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีงาม จะเป็นเรื่องที่ดีมาก!!!!
คุณชาญวิทย์ ควรจะไปถามคุณธนาธรก่อนว่า ควรยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ดีหรือไม่ดี ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขรัฐอื่นดีหรือไม่ดี ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททูตต่างประเทศ ดีหรือไม่ดี ยกเลิกการใช้กฎหมายดูหมิ่นเจ้าพนักงานดีหรือไม่ดี ทำไม จะต้องเรียกร้องไปให้ยกเลิกกฎหมาย คุ้มครองประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์ แต่กฎหมายที่คุ้มครองอื่น ๆ กลับทำเป็นเพิกเฉย ถ้าไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ตอนนี้คุณชาญวิทย์ก็เถอะ คงเละเป็นโจ๊กไปนานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก Voice TV ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.ชาญวิทย์ ไว้บางช่วงที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า
ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เปิดมุมมองต่อคนรุ่นใหม่ ฝ่ายอนุรักษนิยม ชนชั้นนำ และหนทางตามวลีแห่งประวัติศาสตร์ที่ว่า “Thailand is the land of compromise” จะเป็นไปได้อย่างไร ณ จุดที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านอย่างถึงราก
นี่คือบทสนทนาบางส่วน…
‘วอยซ์’ : นอกจากเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก 112 แล้ว เสียงของฝั่งรอยัลลิสต์ก็ไม่เบา อาจารย์มองอย่างไร กังวลใจไหมว่าภาพแบบ 6 ตุลาฯ จะฉายซ้ำ
‘ชาญวิทย์’ : กรณีของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ชุมนุมเมื่อกรกฎาคม 2563 เป็นสิ่งที่ผมประหลาดใจนะ แล้วไม่คิดว่าจะได้เห็นด้วยซ้ำ ประหลาดใจมากๆว่า ความกล้าของเขาเรียกว่าทะลุทะลวงข้อจำกัดเนี่ย ผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี กลับไม่พยายามหาทางมาเจอกัน ผมว่าน่าวิตก น่าห่วงมาก ๆ
สถานการณ์โดยรวมซีเรียสนะครับ แต่ถามว่าน่าหมดหวังไหม น่าท้อถอยไหม ไม่นะ ผมว่าใช้คำว่าน่าจะยังมีโอกาส ถึงแม้ว่าผมจะไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่ผมอายุ 80 แล้ว เห็นโลกมายาวนานแล้ว ถ้าเรามองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศของเรา และในโลกทั้งใบ ในที่สุดคงจะผ่านไปได้
‘วอยซ์’ : อาจารย์มองเห็นความหวัง แปลว่าทุกฝ่ายคงกลับมาคุยกันได้ใช่ไหม เหมือนดั่งประโยคที่ว่า “Thailand is the land of compromise”
‘ชาญวิทย์’ : ผมคิดว่าคำว่า “Thailand is the land of compromise” เป็นคำที่งดงามมากๆ และเป็นคำที่โดยใครก็ตาม รวมทั้งผมด้วยก็คงหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น ผมว่ามันเป็นวาทกรรม เป็นแนวคิดที่ว่าคนไทยมีอันนี้ แต่ในความจริงทางประวัติศาสตร์ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าเราเชื่อว่ามันมีอยู่ในนี้ (ชี้ที่หัวตัวเอง) ก็น่าจะเป็นคุณสมบัติของเรา เราก็ต้องฝ่าฟันไปให้ถึงจนได้
ผมอยากเชื่อว่าผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี คนที่อยู่ในชนชั้นปกครอง เขาจะ compromise เมื่อเขารู้ว่าถ้าไม่ compromise เขาก็อาจจะพัง เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ผมว่าสังคมอาจจะมาถึงจุดนี้ก็ได้แล้ว ถ้าเราไม่ compromise เราพังกันหมด ไม่มีใครได้
อย่างไรก็ตามคำว่า Thailand is the land of compromise เป็นที่ปรากฏออกมากลายเป็นประเด็นให้พูดถึงทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 กรณีที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงจากฤดูฝนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาวถวายแด่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เสร็จสิ้น
จากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด ตลอดเส้นทาง ในการนี้ยังพระราชทานสัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นและสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษ โดยมีผู้สัมภาษณ์คือนายโจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 4
ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในช่วงเวลาที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย และมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าฯเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรัสเรียกประเทศไทยว่า “เป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม”(Thailand is the land of compromise) ซึ่งนี่อาจะเป็นทางออกไปสู่การแกไขปัญหาทางตันทางการเมืองของประเทศที่กินเวลานานนับเดือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทย ได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกถึงการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนประชาธิปไตยที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานถึง 4 เดือน กับซีเอ็นเอ็นและสถานีโทรทัศน์ข่าวช่อง 4 ของอังกฤษ
นอกจากนี้เมื่อผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นกราบบังคมทูลถามเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าฯเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรัสว่า ไม่มีความเห็น ก่อนที่จะตรัสเพิ่มเติมว่า “เรารักทุกคนเหมือนกันหมด” เป็นจำนวนถึง 3 ครั้ง