โควิดในประเทศอ่วม ผู้ป่วยใหม่ยังติดเชื้อไม่หยุด” หมอยง” แจงอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิด

2223

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ทีมโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) ได้แถลงสถานการณ์ “โควิด” ประจำวันที่ 18 ม.ค. 2564 ระบุว่า ผู้ป่วยใหม่วันนี้ 369 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 357 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 12 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม สะสม 70 รายคงที่

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การค้นพบผู้ป่วยใหม่ในชุมชนจำนวนมาก ไม่ใช่ที่โรงพยาบาล หมายถึง การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่า คนกลุ่มนี้อาจจะไม่มีอาการด้วยซ้ำ จึงอยากขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ เพื่อให้ตรวจจับโรคได้ ซึ่งการทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ในตอนนี้ อาจจะเป็นไปไม่ได้

ผู้ป่วยรายใหม่ที่มีประวัติเสี่ยง/สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า พบใน เลย 1 ราย กรุงเทพมหานคร (กทม.) 13 ราย ตรัง 1 ราย นนทบุรี 2 ราย ปทุมธานี 1 ราย อยุธยา 1 ราย สมุทรสาคร 51 ราย อ่างทอง 8 ราย สมุทรปราการ 2 ราย ชลบุรี 1 รายและระยอง 1 ราย ส่วนการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 275 ราย พบใน กทม. 5 ราย สมุทรสาคร 269 ราย และ ชลบุรี 1 ราย

จะเห็นได้ว่าในสมุทรสาคร ยังพบตัวเลขที่สูงอยู่ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการค้นหาเชิงรุก ในวันนี้พบในกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากกว่าคนไทย อย่างไรก็ตาม ภายในจังหวัดมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐที่คัดกรองเชิงรุก ภาคเอกชนร่วมกันจัดหางบประมาณสนับสนุน และสำคัญที่สุดคือภาคประชาชน ที่ช่วยเหลือในด้านการเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ถ้ายังเข้มงวดเช่นนี้ ก็อาจจะเห็นสมุทรสาครกลับมาคึกคักในเร็ววัน

ขณะที่ทางด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส ว่า ผลการเพาะเชื้อใน 24 ชั่วโมง พบว่า ตอบสนองกับยาปฏิชีวนะบางตัวดี แต่ก็มีการดื้อยาปฏิชีวนะบางตัว ดังนั้นจึงต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะ เพิ่มเติม อีก 1-2 ตัว เนื่องจากเสมหะค่อนข้างเยอะ

การควบคุมการติดเชื้อในปอดทำได้ดีระดับหนึ่ง และเอกซเรย์ปอดพบว่าการอักเสบดูเหมือนว่าจะเยอะขึ้น ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่โควิด-19 เพราะการรักษาโควิด-19 การให้ยาต่าง ๆ นั้นจบไปแล้ว แต่เนื่องจากเดิมปอดท่านผู้ว่าถูกโจมตีจากโควิดจึงทำให้เกิดรอยโรคอยู่ก่อน จึงมีโอกาสถูกเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมเข้าไปได้ง่าย เพราะฉะนั้นมีแนวโน้มว่าหากเป็นเช่นนี้ คงต้องเลื่อนการถอดเครื่องช่วยหายใจไปก่อน เพื่อดูดเอาเสมหะต่าง ๆ ซึ่งยังค่อนข้างเยอะ

เมื่อถามว่า เนื่องจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครรักษาในห้องความดันลบ ดังนั้นการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ศ.นพ. ประสิทธิ์ กล่าวว่าการรักษาในห้องความดันลบนั้นคือการป้องกันไม่ให้เชื้อที่อยู่ในห้อง หลุดออกมาข้างนอกได้ แต่เชื้อที่อาจจะมีอยู่เดิมไม่ได้หายไปไหน และโดยปกติร่างกายคนเราก็จะมีเชื้อโรคอยู่ เช่น แบคทีเรียจะมีอยู่ในเสมหะ หากปกติก็จะถูกขับออกมา ทั้งนี้เป็นเรื่องที่พบได้ในห้องไอซียู มาตรฐานการแพทย์จึงต้องมีการดูแลห้องไอซียูให้ปลอดเชื้อ

ท่านผู้ว่าฯ ถูกโจมตีด้วยโควิดมาก่อน และช่วงนี้มีเสมหะมาก จึงเป็นที่มาที่เราจะต้องจัดการกับเสมหะให้ดี และใช้เครื่องช่วยหายใจเอาไว้เพื่อจะได้ดูดเสมหะออกมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะถ้าปกติหากมีการดื้อยาอีกจะต้องให้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่เพิ่มอีก 1-2 ตัว

ทั้งนี้ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์รีวิวสถานกักกันรัฐบาล State Quarantine แห่งหนึ่งที่ตัวเองต้องอยู่อาศัยเป็นเวลา 15 วัน ภายในจังหวัดระนอง พร้อมเปิดเผยภาพของสถานที่แห่งนี้ที่มีสภาพทรุดโทรม คล้ายกับตึกร้าง ทั้งพัดลมที่นำมาให้ก็เต็มไปด้วยฝุ่นเขรอะ ไม่มีการทำความสะอาด และยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้แสงสว่างจากแสงเทียนแทน

โดยเล่าเนื้อหาว่า “ใช่ครับ นี่คือ สถานที่ State Quarantine ในไทย ที่ผมเจอขณะนี้..กักตัว 2 คน ต่อห้อง สงสัยอยากให้มีเพื่อนนอน ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น ไม่มีแอร์ ไม่มีวายฟาย แจกพัดลมมาให้ 2 ตัว แต่ตอนนี้ไม่มีไฟฟ้า เมื่อไม่มีไฟฟ้า ก็ไม่มีน้ำ มันคือการเข้ามาอาศัยในตึกร้าง ไม่ต่างจาก Homeless เพียงแต่มีเตียงให้เท่านั้นเอง”

“อสม.บอกว่าให้เยี่ยว หลังระเบียงไปก่อนแล้วยกมือไหว้บอกเจ้าที่เอา พิจารณาดูกันเอาครับ ว่าสถานที่แบบนี้ใช่ที่อาศัยหรือป่าว? ไม่แปลกใจที่ทำไมบางคนมันหนีสถานกักกัน เพราะมันคือบททดสอบจิตใจคนจริง ๆ น่ะ ผมกะลูกมีพ่อมีแม่อยู่ เฮ็ดผมขี้ร้ายหลาย”

ส่วนทางด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความอธิบายเรื่อง “วัคซีน covid 19 กับอาการไม่พึงประสงค์ และอาการแทรกซ้อน การตายในผู้สูงอายุ หลังให้วัคซีน ในประเทศนอร์เวย์ จำนวน 23 ราย จนเป็นข่าวใหญ่ ทำให้เกิดวิตกกังวล ต่อกระบวนการให้วัคซีน อาการไม่พึงประสงค์

ซึ่งหมอยงบอกว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการไม่พึงประสงค์ หลังให้วัคซีนไม่จำเป็นต้องเกิดจากวัคซีน หรือแพ้วัคซีน กรรมการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ให้หรือไม่ จะตรวจสอบอย่างละเอียด

การศึกษาวัคซีนใหม่ ถึงแม้ว่าจะผ่านระยะที่ 3 แล้ว จะต้องตามอาการไม่พึงประสงค์หลังนำไปใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี อย่างเช่นในนอร์เวย์

ผมทำการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนมากว่า 30 ปี หลังฉีดวัคซีน ผู้ที่รับวัคซีนเดินกลับบ้านไปตกท่อ จะต้องรายงานว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ และหาสาเหตุของการตกท่อ ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ให้กรรมการกลางที่ดูแลด้านความปลอดภัยมาช่วยพิจารณาด้วย เพราะวัคซีนที่ฉีด อาจทำให้เวียนศีรษะแล้วเดินตกท่อก็ได้

เมื่อฉีดวัคซีนแล้วมีการตาย ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

เคยมีอาสาสมัครฉีดวัคซีนแล้วอีก 2 วันเสียชีวิต รายงานทันที ที่ได้รับทราบการเสียชีวิต ในรายนี้ถูกยิงตาย จะต้องหาสาเหตุว่าวัคซีนที่ฉีด อาจจะทำให้เกิดความก้าวร้าว ที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการถูกยิงก็ได้

และเช่นเดียวกัน มีผู้ป่วยหลังฉีดวัคซีนที่ผมเคยดูแลอยู่ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ก็ต้องดูในรายละเอียดเพราะวัคซีนอาจจะทำให้อาการง่วงหนาว หาวนอนแล้วเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุก็ได้

การเสียชีวิตของผู้สูงอายุในนอร์เวย์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (วัคซีนนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการให้วัคซีนของประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อายุมากกว่า 80 ปี อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุส่วนมากจะมีโรคประจำตัว

ในภาวะปกติในสถานดูแลผู้สูงอายุ ก็มีการเสียชีวิตอยู่ประจำอยู่แล้ว แน่นอนเมื่อเกิดขึ้นหลังการให้วัคซีน ก็ต้องพิสูจน์กันว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากวัคซีนหรือไม่ หรือจากโรคชรา โรคประจำตัว จนกว่าจะมีการพิสูจน์การเสียชีวิตอย่างละเอียดทุกราย จึงค่อยว่ากันว่าเป็นสาเหตุจากวัคซีนหรือไม่

การเสียชีวิตดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไหนหยุดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์

ขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 40 ล้านโดส และเป็นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มากที่สุด การให้วัคซีนวันละหลายล้านคนคงจะยังได้ยินข่าวแบบนี้อีกแน่นอน อาการไม่พึงประสงค์ ต้องรอสรุปจริง ๆ จะต้องรอการสอบสวนอย่างละเอียดต่อไป ของใหม่เมื่อนำมาใช้ ก็ต้องมีการระวังอาการข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์อย่างละเอียด และรอบคอบ ดูอาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งโอกาสที่จะเกิดเป็นหนึ่งในล้าน”