รัสเซียบ้าอำนาจหรือถูกบีบให้ต้องทำจากประเทศที่บ้าอำนาจมากกว่าหรือไม่…???

1555

รัสเซียบ้าอำนาจหรือถูกบีบให้ต้องทำจากประเทศที่บ้าอำนาจมากกว่าหรือไม่…???
โดย รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหิดล และประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย

จากประเด็นที่รัสเซียต้องยกกำลังทหารเข้าไปยังยูเครนหลังมีการรับรองให้ประชาชนในบางเมืองที่ต้องการใกล้ชิดกับรัสเซียและต้องการแยกเป็นประเทศของตนทั้งสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ ซึ่งอยู่ในดินแดนของประเทศยูเครน เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่อาจต้องมีมุมมองเพื่อการศึกษา โดยมุมมองที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นการที่รัสเซียถูกบีบให้ดำเนินการ เพื่อป้องกันตัวเองจากการขยายอำนาจของสหรัฐอเมริกาซึ่งอาศัยกลไกของกลุ่มนาโต้ที่มีตนเองและยุโรปผ่านกรณียูเครนเหมือนการดำเนินกับฮ่องกงในกรณีของจีนเพื่อหยุดการคานอำนาจของโลกนี้หรือไม่

เมื่อพิจารณาถึงประเทศยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่คั่นกลางระหว่างรัสเซียกับยุโรปโดยยูเครนเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตถึงปี 2534 หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็กลายเป็นประเทศที่พัฒนาการปกคองแบบประชาธิปไตย แต่เศรษฐกิจก็ซบเซา และนโยบายต่างประเทศอ่อนแอ อยู่ระหว่างกลางระหว่างการสนับสนุนรัสเซียกับการสนับสนุนยุโรป ที่ผ่านมาในยูเครนมีการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี “วิกตอร์ ยากูโนวิช” ที่ปฏิเสธแผนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป ระหว่างการประท้วงในยูเครน รัสเซียให้การสนับสนุนยากูโนวิช ขณะที่สหรัฐและยุโรปสนับสนุนผู้ประท้วง เมื่อฝั่งยูเครนแสดงเจตจำนงว่า ไม่อยู่ฝั่งเดียวกับรัสเซีย เพียง 1 วันหลังยาคูโนวิช โดนไล่จากตำแหน่ง รัสเซียตอบโต้ด้วยการยึดแผ่นดินของยูเครน ที่ชื่อไครเมีย มาเป็นของตัวเอง โดยวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่าเราจะเริ่มกระบวนการเอาไครเมียกลับคืนมาให้รัสเซียอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์ขับไล่ประธานาธิบดียานูโควิชที่ถือกันว่าเป็นฝ่ายที่ยังประสานงานและความสัมพันธ์ที่ดีกับทางรัสเซีย จนทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยึดไครเมีย พร้อมทั้งจัดการเลือกตั้งทันทีในเวลาไม่ถึง 1 เดือน เพื่อถามประชาชนไครเมียว่า จะเลือกอยู่ยูเครนต่อหรือเลือกย้ายไปอยู่รัสเซีย ผลโหวตปรากฏว่า ฝั่งรัสเซียชนะด้วยคะแนนโหวต 96.77% ในมุมของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน มีความเห็นที่ชัดเจนว่าเป็นการปลดปล่อยชาวไครเมีย ให้มาอยู่กับประเทศที่อยากอยู่จริงๆ

แต่ในมุมของฝั่งตรงข้ามหรือประเทศที่ต้องการให้ยูเครนเข้ากับสหรัฐอเมริกาและยุโรป กลุ่มนี้ซึ่งมีวิธีการมากมายที่จะให้โลกเชื่อว่าเป็นวิธีที่รัสเซียทำการยึดพื้นที่ของประเทศคนอื่น โดยความจริงในประวัติศาสตร์ ไครเมียเคยเป็นของรัสเซียมาก่อน และผู้คนก็ยังมีความผูกพันกับประเทศรัสเซีย โดยมีนัยทางกฎหมายเท่านั้นที่ได้ชี้อย่างชัดเจนว่าเป็นแผ่นดินของยูเครนตั้งแต่ปี 1954 โดยชี้และสื่อสารต่อโลกว่าการที่รัสเซียเอากองทหารไปยึดแล้วเปิดให้ทำการโหวตแบบนี้ เป็นการแทรกแซงอธิปไตยกันตรง ๆ ต่อมารัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนเข้ากับ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) โดยประธานาธิบดีปูตินได้แสดงอย่างชัดเจนว่า “คนรัสเซีย กับ คนยูเครน เปรียบเสมือนคนเดียวกัน จะแบ่งแยกกันไม่ได้” เป็นคำยืนยันว่า 2 ประเทศมีวัฒนธรรม ภาษาและประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างใกล้ชิด เกินกว่าจะปล่อยให้ไปสานสัมพันธ์กับฝั่งนาโต้ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นชาติสมาชิกซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับรัสเซีย

เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับนาโต้ หรือ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2492 เพื่อตอบโต้การรุกรานของสหภาพโซเวียตนับตั้งแต่นั้นมา พันธมิตรของนาโต้ก็เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 30 ประเทศ ซึ่งรวมถึงลิทัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย ทั้งหมดนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน ทางการรัสเซียต้องการให้นาโต้รับรองว่า ยูเครนและจอร์เจีย จะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรนาโต้ ทั้งนี้ สองประเทศดังกล่าวเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเช่นกัน การสู้รบในอดีตได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและยุโรปตึงเครียดขึ้น ทั้งยังส่งผลเสียต่อโอกาสในการร่วมมือกันในด้านอื่น ๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย, การควบคุมอาวุธ และการแก้ปัญหาทางการเมืองในซีเรีย

นี่คือ ความกังวลของประเทศอื่นด้วยหรือไม่ ที่มีการดำเนินการทั้งองค์กรฝ่ายพลเรือน องค์กรฝ่ายทหาร หลายฝ่ายไม่ได้กังวลต่อนาโต้ แต่กำลังกังวลต่อยักษ์ใหญ่สุดอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่จะใช้กลุ่มแบบนี้มาเป็นแนวป้องกันตนเอง ลองคิดกลับกันถ้าสหรัฐอเมริกาล่มสลายบ้าง หลายรัฐกลายเป็นหลายประเทศ และมีกลุ่มจากประเทศกลุ่มอื่นจะมาใช้ประเทศเหล่านั้นเป็นแนวที่จะไปเป็นแนวเพื่อประชิดสหรัฐอเมริกาบ้าง จะคิดอย่างไร คงไม่ต่างกับรัสเซียที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ประเทศกันชนของตนเองไปอยู่กับกลุ่มที่อยู่ตรงกันข้ามกันมาตลอดและพยายามสร้างอำนาจเหนือพื้นที่อื่นในทุก ๆ มิติ สามารถส่งทหารเข้าไปยังพื้นที่กันชนนั้น

ที่จริงน่าจะเป็นโอกาสของยูเครนด้วยซ้ำที่สามารถสร้างดุลยภาพทางการทูต ให้เกิดขึ้นเพื่อคานอำนาจทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป กับ รัสเซีย แต่ที่ผ่านมาก็น่าสนใจว่ากลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดการประท้วงและชื่นชมต่อสหรัฐอเมริกาและยุโรป เหมือนการทำกับ ฮ่องกงต่อประเทศจีน คือการให้ประชาชนในประเทศเห็นถึงความล้าสมัย ความเป็นเผด็จการที่น่ากลัวของประเทศที่ยึดโยงจากอดีตมา ดังที่ชาวฮ่องกงประท้วงเพื่อให้ประเทศเป็นแบบสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งไม่ต่างจากที่ทำให้ชาวยูเครนประท้วงเพื่อให้ประเทศเป็นแบบสหรัฐอเมริกาและยุโรปเช่นกัน จนกลายมาเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้มีผู้นำที่เอนเอียงไปทางสหรัฐอเมริกาและยุโรป นี่คือการสั่นคลอนคู่เทียบที่สามารถคานอำนาจจากประเทศอื่นต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างอำนาจเหนือประเทศอื่นในโลกนี้ไปทุกมิติ สามารถใช้การคว่ำบาตรหรือการสร้างความชอบธรรมในการทำให้เศรษฐกิจของรัสเซีย และจีน อ่อนแอลง จีนใช้มาตรการเด็ดขาดและปล่อยให้ความวุ่นวายเกิดขึ้นอย่างเต็มที่เพราะอย่างไรจีนยังมีความเข้มแข็งพอที่จะยังควบคุมสถานการณ์ฮ่องกงได้หรืออาจใช้คำง่ายๆว่าจีนยังเอาอยู่และไม่ห่วงอะไรมากนัก เพราะฮ่องกงนั้นจีนยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนอยู่ แต่รัสเซียอาจต้องลำบากใจกว่าเพราะการล่มสลายที่ทำให้เกิดประเทศต่าง ๆ มากมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อยูเครนที่การดำเนินการได้ผลจนผู้นำถูกเปลี่ยนจากการสร้างกระแสผ่านการประท้วงและการใส่แนวคิดใหม่ จนทำให้ผู้นำใหม่แทนที่จะสร้างดุลยภาพระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป กับ รัสเซีย แต่กลับกำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่รัสเซียก็มองออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

หรือเพราะแบบนี้หรือไม่ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ที ที่จะใช้กลุ่มที่มีสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นกลุ่มใหญ่ในการกดดันให้รัสเซียต้องดำเนินการ แล้วลงดาบมาตรการคว่ำบาตรทำตัวเป็นพระเอก เพื่อชี้ให้โลกเห็นว่าศักยภาพของพลังอำนาจทางการเมืองโลก เศรษฐกิจโลก มีกลุ่มตนเป็นพระเอก ส่วนรัสเซียคือผู้ร้ายจอมเผด็จการ

ประชาชนในยูเครนน่าจะต้องคิดให้ดีว่าการชื่นชมสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยมีผู้นำได้นำประเทศเข้าสู่เกมของการประลองอำนาจแล้วประเทศยูเครนเองจะได้อะไร ทั้งที่ประเทศยูเครนก็มีพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือภูมิหลังประวัติศาสตร์เป็นแบบรัสเซียเช่นกัน น่าจะมีผู้นำที่สร้างดุลยภาพของอำนาจ ให้เกิดประโยชน์แก่ยูเครนสูงสุด โดยไม่หลงไปกับเกมอำนาจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปมากจนเกินไป และไม่สร้างสงครามกับรัสเซีย

ซึ่งคนที่แย่ก็จะเป็นประเทศยูเครนเท่านั้นหาใช่ประเทศที่พยายามสร้างอำนาจโลกนี้ให้คงอยู่กับตนอย่างสหรัฐอเมริกาไม่ ลองพิจารณาดูเถิดเพราะสิ่งที่เกิดจะแย่ต่อยูเครนแล้ว ยังแย่ต่อคนอื่นทั้งโลกยกเว้น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่เริ่มเกมนี้และเป็นผู้สร้างกระแสทางการสื่อสารสมัยใหม่ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของโลก กรณียูเครนจึงเป็นเเรื่องที่น่าคิดว่า “รัสเซียบ้าอำนาจหรือถูกบีบให้ต้องทำจากประเทศที่บ้าอำนาจมากกว่าหรือไม่” คนทั้งโลกรวมถึงชาวไทยควรได้คิดในหลากหลายมุมหลากหลายมิติและนำมามองในต่างมุมเพื่อศึกษากันต่อไป