จากที่วันนี้ 9 มกราคม 2564 ซึ่งตรงกับวันเด็กแห่งชาติ ได้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้โพสต์ข้อความ ซึ่งระบุหัวข้อไว้ว่า“วันเด็กแห่งชาติ” ที่เยาวชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองแล้ว 13 คดี???
ทั้งนี้สำหรับเนื้อหาทั้งหมดยิ่งน่าสนใจที่มีการแจกแจงรายละเอียดถึงคดีความต่างๆที่กลุ่มม็อบถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยขอนำเนื้อหาบางช่วงที่สำคัญมาเผยแพร่ต่อดังนี้
“วันเด็กแห่งชาติในปีนี้ ดูเหมือนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งอันเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในช่วงปี 2563 คือการเคลื่อนไหวภายในโรงเรียนโดยกลุ่มนักเรียนหลากหลายพื้นที่ และการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มผู้มีอายุน้อยกว่า 18 ปี จำนวนมาก
ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนยังร่วมกันนำเสนอประเด็นเรียกร้องที่น่าสนใจ อาทิเช่น วิพากษ์วิจารณ์ระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ความเหลื่อมล้ำและคุณภาพทางการศึกษา ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่แหลมคมและก้าวหน้ายิ่งสำหรับการเคลื่อนไหวในประเทศไทย
จากการแสดงออกในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังการชุมนุม เยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 7 ม.ค. 2564 ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ามีการดำเนินคดีกับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถึง 13 คดี โดยมีเยาวชนที่ถูกกล่าวหาจำนวน 8 ราย ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 8 ราย มีเยาวชน 5 ราย ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุม อีก 3 ราย เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม
แกนนำของกลุ่มเยาวชนสำคัญในปีที่ผ่านมา 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มนักเรียนไท รวม 3 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากมีส่วนร่วมในการปราศรัยระหว่างการชุมนุม 15ตุลาไปราชประสงค์
เยาวชนอายุ 17 ปี 1 ราย ถูกดำเนินคดีถึง 4 คดีแล้ว จากการเข้าร่วมการชุมนุม 4 พื้นที่ เยาวชนอายุ 17 ปี อีก 1 ราย ถูกดำเนินคดี 3 คดี ใน 3 ข้อหาแตกต่างกัน ได้แก่ ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
มีเยาวชน 2 รายแล้ว ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และเยาวชนอายุน้อยที่สุดที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้อายุเพียง 16 ปีเท่านั้น จากกรณีการแสดงออกในแฟชั่นโชว์ของม็อบ29ตุลา หน้าวัดแขก ถนนสีลม ในจำนวนนี้ เยาวชน 2 ราย ยังถูกควบคุมตัวไปโดยตำรวจในลักษณะที่ไม่มีหมายจับ หนึ่งในนั้นถูกจับโดยไม่มีหมายจับและดำเนินคดีถึงสองครั้ง
ในช่วงปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ากระบวนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีชุมนุมทางการเมือง ในกรณีผู้ใหญ่ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไป เนื่องจากไม่มีอำนาจควบคุมตัว เพราะมาพบตามหมายเรียก
แต่ในกรณีเยาวชนในหลายคดี หลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียก เจ้าหน้าที่จะนำตัวเยาวชนไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุม โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 71 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134
ในขั้นตอนดังกล่าว มีรายงานว่าเยาวชนได้ถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขังของศาล นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังขอศาลฯ ออก “หมายควบคุม” อีกด้วย ซึ่งศูนย์ทนายสิทธิฯ ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจดังกล่าวเนื่องจากเยาวชนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจควบคุมตัวแต่อย่างใด
กระบวนการเหล่านี้ทำให้การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของเยาวชนต้องใช้เวลาตลอดทั้งวัน เพื่อรอคอยการประกันตัวจากศาล ในขณะที่การรับทราบข้อกล่าวหาของผู้ใหญ่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้เยาวชนผู้ถูกกล่าวหามีแนวโน้มจะถูกละเมิดสิทธิมากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครองใน “กระบวนการยุติธรรม” มากกว่า
การดำเนินคดีต่อเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดที่เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) ทั้งที่พฤติการณ์อันเป็นเหตุแห่งคดีเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ทั้งตามรัฐธรรมนูญและหลักการระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังถือเป็นสิทธิในกลุ่มเดียวกันกับสิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน รัฐภาคีจะต้องยอมรับสิทธิเสรีภาพของเด็กในการสมาคม ชุมนุมอย่างสงบ เพื่อเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง
สังคมแบบไหนกัน ที่ “ผู้ใหญ่” มอบ #ของขวัญวันเด็ก เช่นนี้ให้กับเด็กและเยาวชนในสังคม?
นั่นคือเนื้อความบางส่วนที่มีการเผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัย และใคร่รู้ถึงประวัติองค์กรแห่งนี้ว่ามีที่มาอย่างไร เพราะที่แน่ๆเป็นหน่วยงานที่มีทนายความสังกัดอยู่ นั่นก็แสดงว่าต้องมีนักกฎหมายอยู่ด้วยแน่ๆ แต่ทำไมถึงออกมาให้ข้อมูลเช่นนั้น นั่นความหมายว่าทำเอาประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ เลือกพูดบางส่วนหรือไม่ ทำไมถึงไม่ระบุด้วยว่า การถูกดำเนินคดีของเยาวชนเหล่านั้น เพราะได้ทำผิดกฎหมาย บางคนใช้คำพูด พฤติกรรมต่อสถาบันที่หยาบคาย รุนแรง บางคนประชัดเสียดสีใช้คำลากมกส่ออนาจารด้วยซ้ำ???
สำหรับข้อมูลที่มาบางส่วนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จากการตรวจสอบพว่าเว็บไซต์ วอยซ์ทีวี เคยได้นำเรื่องราวขององค์กรแห่งนี้มาเผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2557 โดยมีเรื่องราวความเป็นมาในบางส่วนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า
“ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรางวัลพิเศษจากสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย เกิดขึ้นได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่การทำงานแทบจะ 24 ชั่วโมงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมคุมขังภายใต้กฎอัยการศึก ทำให้ฝรั่งเศสมอบรางวัลนี้ให้
ปัจจุบัน ทุกวันก็ยังมีกรณีถูกจับ ข่มขู่ คุกคาม และก็มีการดำเนินคดี ก็คือนำพลเรือนดำเนินคดีในศาลทหาร หลายคนก็ยังถูกจองจำ เพียงเพราะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด แสดงออกความคิดซึ่งทางการเมือง และต้องการประชาธิปไตย
นี่คือมุมมองต่อสถานการณ์ในประเทศไทยของ เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากสถานทูตฝรั่งเศส ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากลซึ่งตรงกับ 10 ธันวาคมของทุกปี จากผลงานการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุมภายใต้กฎอัยการศึก หลังรัฐประหาร
สถานการณ์นี้ทำให้เยาวลักษณ์ และนักกฎหมายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมตัวกันก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุม โดยเปิดฮอตไลน์ ให้ประชาชนโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือ เมื่อมีผู้ถูกจับกุม ทันทีที่ได้รับแจ้งข้อมูล ทางศูนย์จะส่งทนายไปให้ความช่วยเหลือ อธิบายสิทธิทางกฏหมาย หรือประสานเรื่องการประกันตัว ซึ่งคดีส่วนใหญ่ เกี่ยวกับการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร
ศูนย์ทนายมีทีมงานประจำศูนย์ 6 คน มีทนายความ และอาสาสมัครร่วมงานกว่า 10 คน หนึ่งในนั้นคือ อานนท์ นำภา ซึ่งว่าความให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ที่ถูกจับกุมหลังรัฐประหาร
หลังก่อตั้งศูนย์ มีองค์กรส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ให้การสนับสนุนเรื่องบุคคลากรและงบประมาณ เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สหประชาชาติ สหภาพยุโรป และ Open Society Foundation ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในสหรัฐอเมริกา ขณะนี้มี 21 คดีที่ทางศูนย์กำลังให้ความช่วยเหลือ ในจำนวนนี้มี 11 คดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
(อ่านฉบับเต็ม https://www.voicetv.co.th/read/142814)
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของสำนักข่าวเดอะทรูธ (THE TRUTH) พบว่า Open Society Foundation เดิมคือ สถาบัน Open Society Institute เป็นเครือข่ายการให้ทุนระหว่างประเทศ ที่ก่อตั้งโดย จอร์จ โซรอส นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี