รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก รายได้เกษตรกร และการส่งออกมาโดยตลอด ล่าสุดนายกฯส่งจุรินทร์เป็นหัวหน้าทีมกำกับดูแลเศรษฐกิจฐานราก จากผลกระทบโควิด-19ระบาดใหม่ ก.พาณิชย์มีแผนงานอยู่แล้วถึง 14 รายการสามารถประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นเอกภาพได้ โดยตั้งเป้าดูแลเกษตรกรรายย่อย ผู้มีรายได้น้อย ให้ปชช.มีที่ดินทำกิน มีอาชีพมีรายได้มั่นคง เตรียมเสนอครม.ตั้งงบฯปี65 วงเงิน 6,300 ล้านบาท
หนึ่งในผลงานโดดเด่นของรัฐบาลคือการประกันรายได้เกษตรกร
ที่ผ่านมาก.พาณิชย์ได้จัดทำนโยบายเร่งด่วนโดยนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งมี 5 สินค้า คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด และยังให้ความสำคัญกับพืชเกษตรอื่นๆ การประกันรายได้เกษตรกรไม่ใช่การประกันราคา เนื่องจากขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก และจะขัดกับหลักการอุปสงค์ อุปทาน กลไกทางการตลาด รัฐบาลไม่สามารถกำหนดราคาได้ รัฐบาลจึงไม่มีนโยบายประกันราคา แต่มีการประกันรายได้ว่าแม้ราคาจะตกต่ำ เกษตรกรจะได้รับหลักประกันทางรายได้ ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจะช่วยลดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย และในระยะถัดไปจะช่วยให้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรอีกด้วย
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2564 การประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และที่ประชุมได้พิจารณาแผนงาน/โครงการที่จะต้องดำเนินการร่วมกันระหว่าง 8 กระทรวง 50 หน่วยงาน 1 รัฐวิสาหกิจ เบื้องต้นจะเสนอกรอบวงเงินให้สำนักงบประมาณพิจารณา จำนวน 6.3 พันล้าน ซึ่งจะเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกับแผนงานด้านอื่นๆจากกระทรวงต่างๆ ก่อนเสนอครม. ลำดับต่อไป
ปี64-เคาะแผนดูแลเศรษฐกิจฐานราก
นายจุรินทร์ ลักษณวิสิทธ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ก.พาณิชย์มีแผนงานที่จะเดินหน้าต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และแผนงานที่เริ่มต้นใหม่ในปี 2564 มี 3 ส่วน 1.การเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” 2.การเร่งรัดการนำรายได้เข้าประเทศ มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับภาคบริการควบคู่กันไปด้วย 3.มุ่งเน้นการทำงานกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนในรูปของกลไก กรอ.พาณิชย์ ประกอบด้วย 14 แผนงานด้วยกันคือ
1.เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2
2.โครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ลงลึกระดับตำบล
3.เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดโดยใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต”
4.แผนงานอาหารไทยอาหารโลก และมุ่งเน้นการส่งออกอาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติและอาหารแนวใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก
5.ให้ความสำคัญ กระตุ้นทุกภาคส่วนให้ใช้ระบบการค้าออนไลน์มากขึ้น ขึ้นแพลตฟอร์ม และสร้างแพลตฟอร์มกลาง เช่น สร้างทีมเซลล์แมนจังหวัดให้เป็นเซลล์แมนแม่ไก่ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องการค้าออนไลน์ให้กับผู้ผลิตและภาคเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัด เป็นต้น
6.พัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคบริการ ทั้งกับผู้ค้าปลีก ค้าส่ง สมาร์ทโชห่วย กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่ม wellness กลุ่มดิจิตอลคอนเทนท์ กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มบริการการพิมพ์ เน้นการทำฐานข้อมูลภาคบริการ ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มช่องทางการตลาดให้ภาคบริการ
7.พัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิตฐานราก ทั้ง SME และ Micro SME อบรมให้ความรู้หาตลาดและเปิดโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำ blockchain มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในตลาดที่กว้างขึ้นต่อไปในอนาคต
8.เร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal โดยการใช้นวัตกรรมใหม่ทางการตลาดของกระทรวงพาณิชย์ ใช้แพลตฟอร์มที่มีศักยภาพทั้งของไทยและแพลตฟอร์มระดับโลกเป็นช่องทาง เน้นการจัดเอ็กซิบิชั่นในรูปแบบไฮบริดและ Mirror Mirror และอื่นๆ เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกที่จะต้องพัฒนายุคโควิด
9.เดินหน้าการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนเชิงรุก ฝ่าวิกฤตโควิด ด่านที่เปิดอยู่แล้วนั้นถ้าไม่จำเป็นจะไม่ปิด และทันทีที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจะเปิดด่านโดยเร็วที่สุด
10.เร่งรัดการเจรจาการค้าเพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกในทุกรูปแบบ โดยการเจรจา FTA โดยจะเร่งรัดการให้สัตยาบัน RCEP เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางปีนี้ และเริ่มเปิดเจรจา FTA กับ 5 กลุ่มประเทศสำคัญ เช่น EU UK EFTA สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย อาเซียน-แคนนาดา และอื่นๆ และเร่งรัดนโยบายใหม่ การลงนาม Mini FTA และจัดตั้งกองทุน FTA เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม สร้างระบบจับตามองสำหรับเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของไทย
11.ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เร่งรัดการจดทะเบียน GI สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพของไทยในพื้นถิ่นภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศสิ้นปี 63 สามารถจดทะเบียน GI ได้ 134 รายการ ครบทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดอ่างทองที่กำลังเร่งรัดอยู่ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในภาพรวมทั้งปี ถ้าไม่มีจะมีมูลค่าสินค้า 20,000 ล้านบาท เมื่อมี GI สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็น 36,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 16,000 ล้านบาท
12.แผนการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนรวดเร็วเชิงรุก มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการให้บริการผ่านระบบอีเล็คทรอนิกส์ สนองนโยบายE-Government ของรัฐบาล และเพิ่มช่องทางการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ให้สามารถเพิ่มช่องทางร้องเรียนผ่านไลน์ เป็นต้น
13.ร่วมงานกับทุกภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าไทย 5 ปี เป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์แม่บทเพิ่มมูลค่าการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศในปี 64-68
14.ให้บริการประชาชนแบบ One Stop Service ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวโดยมีบริการทั้งหมดรวมกัน 85 บริการ