จากที่วันนี้ 9 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นเสาร์แรกของเดือน อันตรงกับวันเด็กแห่งชาติ โดย เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๔ ความว่า
“เด็กและเยาวชนคืออนาคตของสังคมไทย ซึ่งจะเติบโตมาแทนที่ผู้ใหญ่ผู้กำลังร่วงโรยสู่วัยชราในไม่ช้า พลังของเด็กๆ จึงมีอานุภาพสูงส่งซึ่งสามารถกำหนดทิศทางของบ้านเมืองไปสู่วิถีใดๆ ดุจใจหวัง เด็กๆ จึงพึงพิจารณาถึงเรี่ยวแรงกำลัง ทั้งทางกาย ทางใจ และทางความรู้ความสามารถที่ตนมี ว่าครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมแล้วหรือไม่เพียงใด ในอันที่จะรับภาระของสังคมซึ่งยังเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค ในขณะเดียวกัน ก็พึงระลึกรู้ถึงเอกลักษณ์ของชาติไทยที่บรรพชนสั่งสมไว้ให้เป็นรากฐานต้นทุน สำหรับความรุ่งเรืองในอนาคตของทุกคนอยู่อย่างพรั่งพร้อม
การจะพิจารณาตน พิจารณาผู้อื่น และพิจารณาสภาพสังคม ให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องรอบคอบนั้น ความระลึกได้ และ ความรู้ตัว หรือ สติสัมปชัญญะ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยกย่องไว้ว่าเป็น ธรรมอันมีอุปการะมาก จึงเป็นคุณธรรมสำคัญสำหรับเด็กและเยาวชน รวมตลอดถึงผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่อบรมสั่งสอนดูแล
ความรู้ตัวอยู่เสมอย่อมทำให้มีระเบียบวินัย สามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้ถูกต้องรวดเร็ว สามารถดำรงตนเป็นเด็กที่ดีของผู้ใหญ่ และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของเด็กได้อยู่ทุกขณะ
ถ้าเด็กๆ เปิดใจรับฟังและพิจารณาการกระทำของผู้ใหญ่ พร้อมกับการที่ผู้ใหญ่เปิดใจรับฟัง และพิจารณาการกระทำของเด็กๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ยกเอาความหลงตัว ความถือตน ความโกรธแค้น หรือความหุนหันพลันแล่น ให้มาเป็นใหญ่กว่าความระลึกได้และความรู้ตัวแล้ว ในที่สุดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างวัย ซึ่งจัดเป็นธรรมดาโลกมาทุกยุคทุกสมัยย่อมลดน้อยลง ภาพที่คนต่างวัยต่างเต็มอกเต็มใจเข้าประสานความร่วมมือ สร้างอนาคตของประเทศไทยร่วมกัน ด้วยความเมตตาและสามัคคี ก็จะเกิดขึ้นได้ดังใจปรารถนา
ขอให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูประคับประคองเด็กและเยาวชน มีกำลังใจที่จะอบรมพัฒนาตนเองให้ถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ขอจงเร่งเพิ่มพูนคุณลักษณะความเป็นผู้คุณธรรมจริยธรรม เพื่อนำพาความเจริญก้าวหน้ามาสู่ตน ชุมชน และประเทศชาติอันเป็นรักยิ่งของเราทุกคน”
นั่นคือข้อคิดคติสอนใจ เตือนใจทั้งต่อเด็กและผู้ใหญ่ที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ประทานให้ได้ร่วมกันขบคิด พิจารณา ในขณะที่ช่วงที่ผ่านมา และมองว่าอาจเกิดขึ้นต่อไปอีก กับสถานการณ์การเมืองในการจัดการชุมนุม โดยแกนนำสำคัญในการชุมนุมส่วนใหญ่เป็น‘เยาวชน’ ทั้งยังเรียกชื่อกลุ่มบางกลุ่มว่า เยาวชนปลดแอก
ทั้งนี้สิ่งที่ม็อบเยาวชนเคลื่อนไหว ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องใกล้ตัว อย่างเช่น ‘ครอบครัว’ โดยเฉพาะพ่อ แม่ และผู้ปกครองที่รู้สึกเป็นห่วงหรือกังวลใจกับท่าทีและการแสดงออกของบุตรหลาน อีกทั้งช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้ความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ปกครองเกิดความคลาดเคลื่อนไปด้วย ประกอบกับบางครั้งการเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของวัยรุ่นเหล่านี้ อาจทำให้ผู้ปกครองมองว่าพวกเขาไม่เชื่อฟังตนเอง จนเกิดเป็นความขัดแย้งภายในบ้าน
โดยเรื่องนี้ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ได้กล่าวในเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ไว้บางช่วงว่า ผู้ปกครองหลายท่านกลัดกลุ้มใจที่บุตรหลานเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง และด้วยความที่สื่อสารกันไม่เข้าใจ ทำให้บางบ้านเกือบถึงขั้นตัดสายสัมพันธ์กันก็มี
ขณะที่ หมอโอ๋ ได้แนะนำนั่นก็คือ ให้ผู้ปกครองรู้สึก ‘ดีใจ’ เข้าไว้ ที่เด็กหรือวัยรุ่นมองการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะการตั้งคำถามของพวกเขา จะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคต
“จริงๆ แล้วการที่เด็กและวัยรุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้พวกเขารู้จักคิดวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ทั้งยังได้กลับมาทบทวนเรื่องสิทธิและเสรีภาพของตนเองไปในตัว แต่ไม่ว่าใครก็ต่างรู้ดีว่า การแสดงออกทางการเมืองนั้น ก็เป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย ทั้งถูกตำรวจตามมาถึงบ้าน ถูกคนเห็นต่างประสงค์ร้าย ผู้ปกครองหลายท่านจึงเกิดความกังวลและเป็นห่วงบุตรหลาน และมักจะสอนให้พวกเขาอยู่ห่างจากการเมืองไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อความหรือเข้าร่วมการชุมนุม”