วันที่ 8 มี.ค.2565 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
นายอาคม กล่าวว่า”การลดภาษีดังกล่าวไม่สูญเสียเงินภาษีเพราะที่ผ่านมา ไม่มีการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า แต่ประเมินว่าจากการลดภาษีดังกล่าว จะทำให้มีการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าเดือนละ 200 ล้านลิตร และน้ำมันเตา 35 ล้านลิตร รวม 6 เดือน จะทำให้คิดเป็นเงินภาษีสรรพสามิต 7,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมไม่ได้มีการเก็บอยู่แล้ว การลดภาษีครั้งนี้จึงไม่กระทบกับการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตและรายได้รวมของประเทศ”
สำหรับการเว้นภาษีน้ำมันดีเซลดังกล่าว กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับกระทรวงพลังงานแล้ว เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก แม้ว่าจะไม่มีภาระภาษีสรรพสามิตก็ตาม
ทางกระทรวงพลังงานเห็นว่า การใช้น้ำมันดีเซลที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพื่อไปผลิตไฟฟ้าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าให้เป็นภาระกับประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19และราคาน้ำมันแพง
อย่างไรก็ตามปัจจุบันการผลิตไฟฟ้า ต้องใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่งของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ที่เหลือเป็นการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การลดภาษีดังกล่าว จะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ลดต้นการผลิตไฟฟ้า ทำให้บรรเทาค่าไฟฟ้ากับประชาชนได้ทั้งประเทศ หากไม่มีการลดภาษีจะทำให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1-1.50 บาทต่อหน่วย รวมไปถึงทำให้ต้นทุนสินค้าแพงขึ้น
ในการนี้ครม. ยังเห็นชอบให้ กฟผ. กู้เสริมสภาพคล่องในปี 2565-2567 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท โดยให้เป็นการกู้เงินไม่เกิน 3 ปี โดยที่เงินกู้ดังกล่าวกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
ด้านปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลได้ตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาตรนั้น ต้องเตรียมการรับมือไว้แต่เนิ่นๆเนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ขัดแย้งยังไม่มีแนวโน้มในทางที่จะสงบโดยง่าย
ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ในวันที่ 9 มี.ค. 2565 ซึ่งจะมีการทบทวนแผนรับมือวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง หลังราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
โดยกระทรวงพลังงานจะเสนอให้ปรับแก้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่ว่าด้วยการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตัดข้อความที่ระบุว่า “ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ตามวรรคสองแล้วต้องไม่เกินจำนวน สี่หมื่นล้านบาท”ออกในหมวด 4 มาตรา 26
จากข้อความเต็มระบุว่า กองทุนต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ตามวรรคสองแล้วต้องไม่เกินจำนวนสี่หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้การทำงานของกองทุนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้กองทุนสามารถกู้เงินมาใช้ดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ได้ตามความเหมาะสมแต่ละสถานการณ์และความจำเป็นได้มากขึ้น
สำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน กระทรวงพลังงานยังเร่งหาวิธีช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่จะเป็นรูปแบบไหนอยู่ระหว่างหารือให้ได้ข้อสรุปก่อนเสนอ กพช. เห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นมากแล้ว หากจะใช้เงินกองทุนอุดหนุนคงเป็นไปได้ยาก