ครม.คลอดแผนอัดฉีดกองหน้าสู้โควิด!?! ทุ่มงบฯ 11,300 ล้านบาท เร่งรัดเข้าถึงวัคซีนดูแลอสม. 3 เดือน

1762

รัฐบาลอัดงบฯให้กองหน้าสู้โควิดระบาดใหม่วงเงิน 1.13 หมื่นล้านบาท จากพ.ร.ก.เงินกู้ สำหรับดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 10 โครงการ ทั้งนี้เพื่อดูแลอสม.จำนวน 1.05 ล้านคนเป็นเวลา 3 เดือนให้งบฯ 1,570 ล้านบาท และใช้เพื่อเข้าถึงวัคซีนอีก 1,800 ล้าน ขณะกระทรวงการคลังยืนยันมีเงินพอรับมือโควิดยังไม่ต้องกู้ใหม่กว่า 6 แสนล้านบาท

เงินมีพอต้องจัดสรรตามความจำเป็นสูงสุดก่อน

ครม.อนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯเพื่อใช้สำหรับ 10 โครงการมูลค่า 11,300 ล้านบาทเป้าหมายป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมในทุกมิติ เรื่องนี้ก.คลังแจงมีเงินพอรับมือโควิด-19 รอบใหม่อยู่แล้วจากเงินกู้รอบแรกที่ใช้รับมือระบาดรอบแรกเหลือเกือบ 6 แสนล้าน มีงบฯกลางสำรองอีก1.1 แสนล้านบาท

เช็คฐานะการคลังประเทศไทย มีเงินพอรับมือโควิด-19 ระบาดรอบใหม่จากกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเหลือ 509,791.10 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลควบคุมได้ เงินที่เหลืออยู่อาจพอ แต่ถ้าระบาดหนักกว่าเก่า คงต้องเขย่าแผนการใช้งบฯ64 กันใหม่ อย่างไรก็ตามก.คลังยืนยันว่า ประเทศไทยเป๋าตุง เพราะมีเงินสำรองต่างประเทศสูงสุด และประมาณการรายได้จากการเก็บภาษี Vat ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งมาตรการกระตุ้นบริโภคไตรมาสแรกปี 2564 ผ่านคนละครึ่งและเที่ยวด้วยกัน จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอีก 6 หมื่นล้านบาท

สรุปว่ารัฐบาลมีเงินพอที่จะใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยา หรือผลกระทบสำหรับโควิด-19 ได้ถึงปีหน้า โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก และถ้ารุนแรงกว่าที่คาดเงินที่เหลือจากเงินกู้ไม่พอ รัฐบาลยังสามารถใช้งบกลางฯ 2 รายการ 110,032.7 ล้านบาท ได้แก่ 1.งบฯกลางกรณีฉุกเฉินจำเป็นปี 2564 จำนวน 69,707.1 ล้านบาท 2.งบฯกลางรายการค่าใช้จ่าย ในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน40,325.6 ล้านบาท

ตั้งงบฯ1.13 หมื่นล้านสำหรับ 10 โครงการ

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า เพื่อให้การดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งเรื่องบุคลากร เครื่องมือแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ครม.ได้อนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ จำนวน 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 1.13 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้ดังนี้ 

1.กลุ่มเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค วงเงินงบประมาณรวม 4.33 พันล้านบาท จำนวน 5 โครงการ คือโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย

สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชน จำนวน 1.05 ล้านคน ระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม – มีนาคม 2564) ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 1.57 พันล้านบาท

-โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 419.84 ล้านบาท

-โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 503.89 ล้านบาท แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนชาวไทย รับผิดชอบโครงการคือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ วงเงิน 1.81 พันล้านบาท

-โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เพื่อรองรับการเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยการติดเชื้อโรคโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ และเชื้อโรคระบาดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเงิน 24 ล้านบาท

2.กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ วงเงินงบประมาณรวม 6.96 พันล้านบาท จำนวน 3 โครงการ คือโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 2.037 พันล้านบาท

-โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยบริการสุขภาพ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1.92 พันล้านบาท

-โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2.99 พันล้านบาท

3.กลุ่มสนับสนุน วงเงินงบประมาณรวม 27.2 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ คือโครงการจัดซื้อจัดหาเครื่องมือตรวจสอบระบบการแพร่กระจายเชื้อในห้องแยกโรค และอุปกรณ์การคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 17 ล้านบาท

-โครงการพัฒนาระบบปกติใหม่ ของการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 9.7 ล้านบาท 

นางสาวรัชดา กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้เพียงพอต่อการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ได้ มีการรายงานความก้าวหน้าการใช้จ่ายเงิน รวมถึงปัญหาและอุปสรรค ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด