เปิดข้อมูลเจาะลึก 2 นพ.ผู้เชี่ยวชาญ ทางรอดของคนไทย ซื้อ-วิจัย-ผลิตเอง วัคซีนโควิด-19 หมอยง ยก 5 ข้อ แต่ละขั้นตอนทำไมถึงช้า

2773

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่บทความผ่านทางเฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 วัคซีน” ระบุเอาไว้ว่า

1. ขณะนี้ ทั่วโลก วัคซีนโควิด ที่ได้ขึ้นทะเบียนให้ฉีดในภาวะฉุกเฉิน มีแล้วถึง 6 ชนิด ของจีน 3 ชนิด รัสเซีย 1 ชนิด อเมริกา 1 ชนิด และอเมริการ่วมกับเยอรมัน 1 ชนิด

2. วัคซีนเป็นเชื้อตาย 2 ชนิดของจีน ไวรัสเวกเตอร์ 2 ชนิดเป็นของจีนและรัสเซีย และ mRNA (messenger RNA) 2 ชนิดเป็นของอเมริกา และอเมริการ่วมกับเยอรมนี

3. วัคซีน AstraZeneca ที่ไทยรอคอยอยู่ ยังไม่สิ้นสุดการทดลอง

4. มีร่วม 10 ประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว มากกว่า 5 ล้าน โดส และภายในมกราคม จะมีการฉีดอีกหลายสิบเท่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นร้อยล้านโดส

5. ประเทศต่าง ๆ ได้ขึ้นทะเบียน หรือทะเบียนในภาวะฉุกเฉินในวัคซีนบางตัว มากกว่า 30 ประเทศ และรวม EU ทั้งหมด แสดงว่าจะมีการฉีดเป็นจำนวนมาก ในเดือนมกราคม

ทำไมประเทศไทยจึงช้าในเรื่องวัคซีนโควิด

1. เพราะเรามุ่งอยู่กับวัคซีนไวรัส เวกเตอร์ของ AstraZeneca อย่างเดียวหรือ? (ไม่ทราบ) ยังทดลองไม่เสร็จ และยังไม่มีประเทศไหนขึ้นทะเบียน แม้กระทั่งในภาวะฉุกเฉิน (รออังกฤษ) ความจำเป็นที่ต้องใช้ มีจำนวนมากกว่าที่ทำสัญญาไว้มาก

2. เราไม่ควรยึดติดอยู่กับวัคซีน บริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีวัคซีนให้เลือกในขณะนี้ หลายบริษัท แม้กระทั่งของจีน ยุโรป อเมริกา

3. ขบวนการติดต่อจัดซื้อ ไม่ควรอยู่ที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะมีความจำเป็นใช้ถึง 80 ล้านโดส ควรจะมีตัวเลือก และ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

4. ภาคเอกชนควรมีส่วนช่วยภาครัฐ เชื่อว่าถ้าให้เอกชนนำเข้า จะแบ่งเบาภาครัฐได้มาก ถึงแม้ว่าวัคซีนที่จะต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ ก็ไม่เป็นปัญหา ในสิงคโปร์สามารถจัดการได้ ประเทศไทยก็ควรจะจัดการได้ เพื่อจะได้แบ่งเบาวัคซีนของภาครัฐ ให้ได้เพียงพอกับประชาชนทั่วไปโดยเร็ว

5. กระบวนการขึ้นทะเบียนของไทย จะต้องมีขั้นตอนที่รวดเร็ว

ดูแผนที่และข้อมูลจาก Wikipedia การวางแผนการให้วัคซีนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว แม้กระทั่งแผนการขึ้น ทะเบียนการใช้อย่างฉุกเฉิน รออยู่ ก็ไม่มีประเทศไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งนำหน้าไปแล้ว

เราจะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยขยับตัวได้เร็วกว่านี้ ไม่รอถึงมิถุนายน อย่างที่เป็นข่าว การระบาดครั้งนี้ หนักกว่าที่คิด ผู้รับวัคซีน ควรมีสิทธิ์เลือกที่จะฉีดหรือไม่ฉีด และควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด


ขณะที่ในรายการ “คิดต่าง ฟัง รอบด้าน” ทางเนชั่นทีวี ได้เปิดประเด็นไขข้อข้องใจประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ให้ข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะวัคซีนสัญชาติไทยจากฝีมือคนไทยที่จะผลิตขึ้นเอง ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อไหร่ที่จะมีวัคซีนให้คนไทย ได้สู้กับเชื้อโควิด-19

โดยทางด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก วัคซีนที่ผลิตจากต่างประเทศ และผ่านการรับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้แล้ว และประเทศไทยได้จองซื้อเพื่อนำมาใช้กับคนไทย กลุ่มที่สอง คือวัคซีนที่คิดค้นพัฒนาภายในประเทศ โดยอาจจะร่วมมือกับนักวิจัยระดับโลก และกลุ่มที่สาม ได้แก่วัคซีนที่ผลิตเองในประเทศไทย

สำหรับวัคซีนที่จะนำมาใช้กับคนไทยเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น น่าจะได้เร็วที่สุดช่วงกลางปีหน้า โดยเป็นวัคซีนที่ซื้อมาจากต่างประเทศ หรือนำเทคโนโลยีของต่างประเทศมาผลิตในประเทศ เช่น จาก บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า ส่วนวัคซีนที่วิจัยกันในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ คาดว่าจะได้ทดลองฉีดในอาสาสมัครราว ๆ หลังสงกรานต์


วัคซีนที่ไทยจองซื้อ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบ่งตามเทคโนโลยี กับแบ่งตามแหล่งผลิต

โดยเทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็ทำอยู่ มี 2 บริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินในหลายประเทศ คือ บริษัท ไฟเซอร์ กับ บริษัท โมเดอร์นา พบว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก เกือบ 95% แต่ข้อจำกัดคือต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมาก โดยไฟเซอร์ ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศา ขณะที่โมเดอร์นา -20

ส่วนวัคซีนที่ดูตามแหล่งผลิต ในสหรัฐอเมริกาก็มี 2 บริษัท คือ ไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา ส่วนที่อังกฤษก็มีวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า กำลังรอการอนุมัติในอังกฤษ และมีโอกาสที่ไทยจะได้ใช้ในปีหน้าเช่นกัน ขณะที่แหล่งผลิตอื่น ๆ ก็เช่น จีน รัสเซีย และวัคซีนของ “โนวาแว็กซ์” ของอเมริกา ยังต้องรอสรุปงานวิจัย ซึ่งจะรู้ผลในระยะต่อ ๆ ไป โดยหลักในการเลือกวัคซีน ก็มีทั้งเรื่องราคา ความปลอดภัย และความสะดวกในการใช้

สำหรับเทคโนโลยี mRNA ถือว่าได้รับการยอมรับ เพราะฉีดไปแล้ว 2.1 ล้านคนในสหรัฐ เฉลี่ยวันละเกินแสนคน ขณะที่ในอังกฤษ นับถึงก่อนคริสต์มาสฉีดไปแล้ว 6 แสนคน ถือว่าทั้งโลกฉีดไปประมาณ 3 ล้านคน ผลข้างเคียงที่พบมี 2 แบบ ได้แก่ ผลข้างเคียงเฉพาะที่ เกิดจากตำแหน่งที่ฉีด เช่น แขนระบม ปวดแขน กับผลข้างเคียงในระบบร่างกาย คือมีไข้ ส่วนนี้มีไม่ถึง 5% และเมื่อทานยาลดไข้แล้ว ไม่เกิน 2 วันไข้ก็ลดลง

ประเด็นที่มีรายงานจากอเมริกากับอังกฤษ คือการแพ้อย่างรุนแรง ผื่นขึ้น ลมพิษ คอแห้ง หมดสติชั่วคราว มีทั้งหมด 8 เหตุการณ์ แต่พอฉีดยาแก้แพ้แล้วก็กลับสู่ภาวะปกติทุกคน จาก 3 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน ก็ถือว่าต่ำมาก โดยผู้ที่พบว่าแพ้ ก็ต้องเลี่ยงการรับวัคซีน แต่ถ้าไม่เลี่ยง ก็ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ข้อแนะนำที่ง่ายที่สุดคือ หลังฉีดวัคซีน อย่ากลับบ้านทันที ควรนั่งดูอาการอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ใครก็ตามที่เคยแพ้อะไรรุนแรง เช่น อาหารทะเล ก็ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ ขณะที่การรับวัคซีนสำหรับป้องกันโรคระบาด ต้องฉีดซ้ำกัน 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน

เมื่อถามถึงวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย หมอเกียรติ บอกว่า มีอยู่ 2 วัคซีนด้วยกัน คือจากจุฬาฯ และอีก 1 มาจากบริษัทเอกชน เป็นวัคซีนฝีมือคนไทย ทดลองในหนูแล้วได้ผลดีมาก ขณะนี้กำลังทดลองในลิง ถ้าอยากพิสูจน์ต่อในคน ก็ต้องทำวิจัยในอาสาสมัคร

ข้อดีของการมีวัคซีนของไทยเอง หมอเกียรติ บอกว่า ข้อดีคือราคาถูกกว่า และถ้ายืนบนขาตัวเองได้ ไทยก็น่าจะส่งออกได้ด้วย หรือผลิตให้ประเทศร่ำรวยซื้อไปบริจาคให้กับประเทศยากจน


ส่วนทางด้านนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า การจัดหาวัคซีนมาใช้ มีทั้งซื้อมาตรง ๆ กับรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต อีกด้านคือสนับสนุนงานวิจัยภายในประเทศ แม้จะมีวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลานานพอสมควรในการควบคุมการระบาด

โดยในปี 2564 ต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ 50% ของประชากร หรือราว ๆ 33 ล้านคน โดยวิธีการจองซื้อจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพ ส่วนงานวิจัยภายในประเทศ ยังไม่น่าจะมีวัคซีนที่จะนำมาใช้ได้ในปีหน้า

สำหรับวัคซีนที่ไทยจองไปแล้ว จากบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า โดยจำนวนที่ต้องการยังขาดอีก 30% คณะกรรมการเร่งรัดจัดหาวัคซีน ที่มีปลัดกระทางสาธารณสุขเป็นประธาน ก็ให้แนวทางไปจัดหาวัคซีน โดยดูศักยภาพของบริษัทผู้ผลิตว่ามีแนวโน้มประสิทธิผลเป็นอย่างไร ดูเรื่องราคา ความปลอดภัย และระยะเวลาในการส่งมอบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ

เป้าหมายของการฉีดวัคซีนอีกด้านหนึ่ง คือความครอบคลุมในการรับวัคซีน ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องได้รับวัคซีน แต่ถ้าคนจำนวนมากพอสมควรได้รับวัคซีนแล้ว ก็จะช่วยป้องกันคนที่ไม่ได้รับวัคซีนไปด้วย เช่น ฉีดวัคซีนไปประมาณ 80% ของประชากร คนที่ไม่ได้รับวัคซีนก็จะได้รับความคุ้มกันไปด้วย ถ้ามีภูมิคุ้มกันสัก 70% สำหรับโควิด-19 ก็จะป้องกันคนอื่น ๆ ได้ด้วย