จากที่วันนี้(28 ธ.ค.63) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงทางการไทยอีกครั้งเรียกร้องให้ยกเลิกการการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบและผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทั่วประเทศ
ทั้งนี้โดยอ้างถึงการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีถึง 220 คน ที่ถูกดำเนินคดีซึ่งในนั้นมีเยาวชนร่วมอยู่ด้วย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกันว่า จะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในแง่ของการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และไม่ควรมีใครถูกคุกคามหรือถูกตอบโต้เพียงเพราะการเข้าร่วมหรือแสดงความเห็นด้วยกับการชุมนุมโดยสงบ
“มีบุคคลจำนวนประมาณ 220 คน ซึ่งรวมถึงเด็กถูกดำเนินคดี อย่างน้อย 149 คนในจำนวนบุคคลถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดข้อจำกัดในการชุมนุมสาธารณะภายใต้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และอย่างน้อย 53 คนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ถึง ณ ตอนนี้บุคคลจำนวน 37 คนถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี เจ้าหน้าที่ได้ทำการดำเนินคดีกับทนายความ และนักเคลื่อนไหวในจังหวัดอุบลราชธานีภายใต้กฎหมายยุยงปลุกปั่นฯ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำปราศรัยของแกนนำผู้ประท้วงในปลายเดือนสิงหาคม 2563” แอมเนสตี้ ระบุ
อย่างไรก็ตามพบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกๆ และเป็นกรณีแรกๆที่องค์กรแห่งนี้พยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายของไทย ด้วยพยานหลักฐาน ทั้งชัดเจนว่าม็อบที่ผ่านมาไม่ไก้ชุมนุมโดยสงบ มีการการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหยาบคายและรุนแรง และเมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปก็พบการออกมาของแอมเนสตี้ตลอด4เดือนนี้ทำมาแล้วถึง 5 ครั้ง
21 ต.ค. 2563 แอมเนสตี้ แถลงหลังมีรายงานข่าวว่า ศาลมีคำสั่งตามคำขอของรัฐบาลให้ปิด “ทุกแพลตฟอร์ม” ของวอยซ์ทีวี โดยระบุถึงความเห็นของมิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ชี้ว่า เป็นความพยายามอย่างชัดเจนของทางการไทยในการข่มขู่และคุกคามเพื่อปิดปากประชาชน เช่นเดียวกับการตั้งข้อหากับแกนนำผู้ชุมนุม
24 ต.ค. 2563 ราชัด โคเซีย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยและนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยการออกแถลงการณ์ระบุ มีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี 84 คนนับแต่วันที่ 13 ต.ค. โดยอ้างว่าใช้ข้อกล่าวหาที่กำกวมและมีแรงจูงใจทางการเมือง แกนนำผู้ชุมนุมถูกคุมขังเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นของตนโดยสงบ เรียกร้องให้ปล่อยตัวทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งยังเรียกร้องทางการไทยให้เคารพพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กด้วย
25 พ.ย. 2563 แอมเนสตี้ร่วมกับ 12 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศออกแถลงการณ์ ส่งข้อเสนอแนะ 4 ข้อ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพ คุ้มครอง และสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้สอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่มีต่อกติกา ICCPR และกฎหมายระหว่างประเทศ และเน้นย้ำ ให้ทางการไทยดำเนินการเพื่อประกันให้มีความรับผิด กรณีเกิดการละเมิดสิทธิ จากการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม และประกันว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิสามารถใช้สิทธิการเข้าถึงการเยียวยาอย่างได้มีประสิทธิภาพ
แล้วก็มาครั้งล่าสุด 28 ธ.ค.2563 ที่แอมเนสตี้ ออกมาเรียกร้องท่ามกลางการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อโควิดให้ยกเลิกการการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบและผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทั่วประเทศ 220 คน
ขณะที่ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2563 มีชาวต่างชาติเดินเข้ามาพูดคุยกับนายนราธิวัฒน์ คำมา หรือ เคน แกนนำคณะราษฎรพัทยา จนเกิดปากเสียงกัน โดยชาวต่างชาติที่ทราบชื่อภายหลังคือ มร.วลาดิสลาฟ ทีมอคีน อายุ 52 ปี สัญชาติรัสเซีย ซึ่งถูก เคน ใช้ศีรษะโขกเข้าที่ใบหน้าจนได้รับบาดเจ็บเลือดไหลนองใบหน้า
ต่อมา 11 พ.ย.2563 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง “แอมเนสตี้” เรียกร้องให้ออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่าง และให้หยุดใช้ความรุนแรงต่อเหตุการณ์ผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 พัทยาต่อหน้าลูกสาววัย 10 ขวบ และประชาชนทั่วไป หลังจากประสานไปได้รับแจ้งว่า แอมเนสตี้สำนักงานปิดเพราะไปลงพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้กลุ่มไทยภักดี ต้องเรียกร้องผ่านเฟซบุ๊กแทน???