จากกรณีที่โรงพยาบาลชื่อดังย่านวิภาวดี ได้โฆษณาแพ็คเกจ เปิดจองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Moderna ในราคา 4,000 บาท จำนวน 1,000 ราย หมดเขตวันที่ 31 มกราคม 2564 นั้น
โดยต่อมาทางโรงพยาบาล ระบุว่า วัคซีนจะถูกนำเข้ามาประมาณเดือนตุลาคม 2564 โดยจะต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ และไม่สามารถคืนเงินได้ เนื่องจากเป็นการ สั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่สามารถเปลี่ยนผู้ฉีดได้ ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถฉีดได้
ขณะที่ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า ได้ประสานไปยังโรงพยาบาลให้ลบข้อมูลตามเว็บไซต์ดังกล่าวออก เพราะยังไม่สามารถทำการจองวัคซีนได้ เนื่องจากโดยหลักการแล้ว หากเป็นการผลิตวัคซีนหรือยา แม้ได้รับการรับรองจาก อย. ต่างประเทศ ว่าสามารถจำหน่ายหรือฉีดได้ แต่ถ้ามีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยจะต้องผ่านอย.ของไทยก่อน โดยผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากโรงพยาบาลดังกล่าวขึ้นเว็บไซต์รับจอง ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม มียอดจองเต็มแล้ว จนกระทั่งประกาศปิดรับจอง เมื่อช่วง 11.30 น. ในวันที่ 27 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา
ล่าสุดทางด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณี รพ.ดังย่านวิภาวดี โฆษณาเปิดจองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Moderna ของสหรัฐอเมริกา โดยรับจอง 1,000 ราย ว่า การโฆษณาทางโซเชียลมีเดียดังกล่าวทำให้คนสนใจอย่างมาก แต่จากข้อมูลปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการรับรองวัคซีนโรคโควิด-19 ตนจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ สบส.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ถูกต้องมีมาตรฐาน
วันนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่แล้ว พบว่ามีการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนจองวัคซีนโรคโควิด-19 จริง โดยระบุว่า โรงพยาบาลมีบริการรับจองวัคซีนโรคโควิด-19 ในราคา 4,000 บาท จำนวน 1,000 ราย หมดเขตวันที่ 31 ม.ค. 2564 ทั้งที่ยังไม่มีการรับรองวัคซีนโควิด -19 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และอนุญาตให้สถานพยาบาลสามารถดำเนินการฉีดวัคซีน
“การโฆษณาของ รพ.เอกชนดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดมาตรา 38 วรรค 1 ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานไม่ขออนุมัติและได้รับอนุมัติให้โฆษณา และมาตรา 38 วรรค 2 ฐานโฆษณาในลักษณะอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินความจริง และน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล จึงมีคำสั่งให้ระงับการโฆษณาดังกล่าว ก่อนที่จะเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”
นอกจากนี้ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า การเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาลเพื่อประโยชน์ทางการค้าไม่ว่ากรณีใดก็ตาม จะต้องยื่นเรื่องขออนุมัติการโฆษณากับ สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อน มิฉะนั้น จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายสถานพยาบาล ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา