ก.พาณิชย์-เอกชนยัน “เบร็กซิท”ไทยได้มากกว่าเสีย!?! เร่งเจรจาเอฟทีเอรักษาตลาด 2.2 แสนล้าน

1724

สหราชอาณาจักร(ยูเค)และสหภาพยุโรป(อียู) บรรลุข้อตกลงการค้าหลังเบร็กซิทแล้ว หลังจากเจรจากันมานานหลายเดือน โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิในการทำประมง และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจในอนาคต แน่นอนย่อมส่งผลกระทบประเทศคู่ค้าของทั้งยูเคและอียู ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ต้องเตรียมตัวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองด้วย เพื่อรักษาตลาดการค้าไทยกับอังกฤษและสหภาพยุโรป มีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนตลอดจนนักวิชาการประสานเสียงว่ากระทบการส่งออกของไทยระยะสั้น ทั้งหนุนเจรจาในกรอบเอฟทีเอให้ชัดเจนทั้งยูเคและอียู

อังกฤษ-สหภาพยุโรป ตกลงกันได้ทำให้กฎเกณฑ์การค้าชัดเจนไม่สับสน

การที่สหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรป ที่รู้จักกันในนาม”เบร็กซิท”นั้นมีสาเหตุสำคัญจากการไม่ต้องการรับภาระหนี้ของประเทศสมาชิกอียูอื่น ปัญหาการเข้าประเทศของผู้อพยพต่างชาติ และความต้องการอิสระในการทำข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่น ๆ ได้เอง

หลังจากการเจรจากันข้ามคืนจนล่วงเข้าวันใหม่ของวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา  ทั้งอังกฤษและอียูก็บรรลุข้อตกลง เป็นอันว่า เบร็กซิทซึ่งทางนิตินัยเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ แต่มีระยะเปลี่ยนผ่าน 11 เดือน เพื่อให้เจรจาหากติกาสำหรับความสัมพันธ์ใหม่มีผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า ก็ตกลงกันได้ในที่สุด ก่อนกำหนดเส้นตายคือวันที่ 31 ธันวาคม 2020จะมาถึง

ประเด็นสำคัญของการเจรจาคือ ข้อตกลงการค้า ซึ่งมีข้อสรุปว่า เหมือนเดิม คือ ทั้งอียู และอังกฤษยังอยู่ในระบบตลาดเดียว (Single Market) และสหภาพศุลกากร (Custom Union) กล่าวคือ การส่งออก-นำเข้าสินค้า “ส่วนใหญ่” ระหว่างกัน ยังเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีไม่มีการเก็บภาษี ไม่มีการกำหนดโควตา

ที่เปลี่ยนแปลงคือ สินค้าส่งออกของอังกฤษ โดยเฉพาะอาหาร และสินค้าเกษตร จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียู เช่น เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย สุขอนามัย แหล่งกำเนิดสินค้า ฯลฯ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ต้องการส่งสินค้าเข้าไปขายในอียู ซึ่งตรงนี้จะทำให้การทำธุรกิจกับอียูยากขึ้น เพราะมีกฎระเบียบมากมาย และทำให้ต้นทุนเพิ่ม

การค้าด้านบริการ (ภาคการเงิน) ยังไม่มีความชัดเจนมากนักสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจภาคบริการทางการเงิน เนื่องจากยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่อง “การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถให้บริการทางการเงินจากอังกฤษไปยังประเทศต่างๆ ในตลาดร่วมยุโรปภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ข้อตกลงใหม่เพียงระบุกฎเกณฑ์มาตรฐานสำหรับบริการทางการเงิน แต่ไม่ได้รวมถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงและช่องทางเข้าถึงตลาด ทั้งอังกฤษและอียูยังจะต้องเจรจากันเพิ่มเติมในเรื่องนี้

การทำงานของบุคลากรวิชาชีพไม่มีการรับรองโดยอัตโนมัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคลากรด้านวิชาชีพระหว่างอังกฤษและอียูอีกต่อไป โดยฝ่ายอียูระบุว่า แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ วิศวกร หรือสถาปนิกของอังกฤษ จะต้องขอใบรับรองคุณสมบัติด้านวิชาชีพจากแต่ละประเทศสมาชิกอียู ที่พวกเขาประสงค์จะเข้าไปทำงาน

ประเด็นนี้นับเป็นความสูญเสียของฝ่ายอังกฤษที่ไม่ต้องการอุปสรรคใดๆ มากีดกั้นการบริการด้านวิชาชีพที่มีการกำกับดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับใหม่มีการระบุถึงกรอบสำหรับการรับรองคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพสำหรับอังกฤษเอาไว้ด้วย

การเดินทางเพื่อธุรกิจมีบทบัญญัติระบุไว้ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับการเดินทางเพื่อการทำธุรกิจของคนอังกฤษหรือบริษัทอังกฤษในอียู หลังจากที่ระยะเวลาแห่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้บุคคลอังกฤษที่เดินทางไปอียูเพื่อการทำธุรกิจในช่วงเวลาสั้นๆ สามารถเยือนอียูได้ 90 วัน นอกจากนี้ บุคคลอังกฤษที่เยือนอียูเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเพื่อการจัดตั้งบริษัท ยังไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตการทำงานในช่วงเวลานั้นด้วย

กฎเกณฑ์ว่าด้วยการทำประมงประเด็นนี้มีการถกเถียงกันมาก ความต้องการมีอำนาจอธิปไตยในการทำประมงเหนือน่านน้ำของตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษต้องการแยกตัว ภายใต้ข้อตกลงใหม่เรือประมงของอังกฤษจะได้รับโควตาการทำประมงในน่านน้ำอังกฤษ 25% คืนมาจากอียู คิดเป็นมูลค่า 146 ล้านปอนด์ หรือราว 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะค่อยๆ ทยอยได้คืนในระยะเวลา 5 ปี (ตอนแรกเริ่มเจรจาอังกฤษขอคืน 80% แต่มีการประนีประนอมในที่สุดเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลง) มีกรอบเวลา 5 ปีครึ่งสำหรับช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แต่ในระหว่างนี้สิทธิในการเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของกันและกันยังคงอยู่

ข้อตกลงนี้ จะมีผลบังคับอย่างเป็นทางการเมื่อ รัฐสภาและฝ่ายบริหารของประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ เห็นชอบเป็นรายประเทศ ทุกประเทศด้วย ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

มาดูฝั่งไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์อย่างไร?

เงินบาทแข็งค่าขณะเงินปอนด์อ่อนค่าไทยต้องปรับตัว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีอังกฤษออกจากอียู อังกฤษได้เคยประกาศจะยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศเป็นเวลา 1 ปีสำหรับสินค้าสัดส่วน 87% ของรายการสินค้าทั้งหมดของอังกฤษ ส่วนสินค้าอีก 13% ที่มีความอ่อนไหวยังคงมีการเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งในกลุ่ม 87% สินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปอังกฤษเพิ่ม อาทิ อัญมณี ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ อาหารปรุงแต่ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องสำอาง เป็นต้น

“กลุ่มสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ผู้ประกอบการต้องเตรียมหาช่องทางโอกาสในการขยายตลาดไปยังอังกฤษ เพราะเราไม่มีแต้มต่อต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นด้วยซึ่งขณะนี้เงินบาทแข็งค่า สวนทางกับเงินปอนด์อ่อนค่า ราคาสินค้าไทยเสียเปรียบ ดังนั้นต้องเน้นแข่งด้วยคุณภาพ ถ้ารู้จักตลาด และรู้ช่องทางความต้องการผู้บริโภคก็จะได้เปรียบ”

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับอียูและอังกฤษ   เพื่อเตรียมการสำหรับเบร็กซิท จากสินค้าไทยที่เคยได้รับการจัดสรรโควตาภาษีนำเข้าไปยังอียูที่เดิมรวมถึงอังกฤษ เมื่ออังกฤษแยกตัวออกมาแล้วต้องมีการจัดสรรโควตาใหม่เป็น 2 ส่วนคือโควตาของอังกฤษและของอียู แต่เมื่อรวมแล้วไทยจะต้องได้รับโควตาไม่ตํ่ากว่าเดิม ซึ่งในส่วนของอียูมีสินค้าไทยที่ได้รับโควตาประมาณ 32 รายการ และได้รับโควตาจากอังกฤษ 31 รายการ สินค้าที่ได้รับโควตา อาทิ เป็ด ไก่ ปลา ข้าว ปลาทูน่า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

สำหรับผลการศึกษาของสถาบันอนาคตศึกษา พบว่า หากไทยและอียู 27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร ยกเลิกภาษีทำนำเข้าระหว่างกันหมดจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 205,000 ล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 216,000 ล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 209,000 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

นักวิชาการมองกระทบส่งออกไทยไม่มาก

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า เบร็กซิทไทยจะได้มากกว่าเสีย ไม่ว่าจะโน-ดีล หรือซอฟต์-ดีล โดยกรณีโน-ดีล เบร็กซิทจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปอังกฤษไม่มาก (ไทยส่งออกไปอังกฤษสัดส่วน 1.6% ของการส่งออกไปทั่วโลก) ที่ผ่านมาการส่งออกการส่งออกของไทยไปอังกฤษที่ลดลงมาจากกำลังซื้อของคนอังกฤษลดลงจากเศรษฐกิจภายในชะลอตัว

ไทยควรทำเอฟทีเอกับอังกฤษ และทำเอฟทีเอกับอียูหลังเบร็กซิท เพราะการแยกตัวจากอียูของอังกฤษจะทำให้การนำเข้าสินค้าของอังกฤษจากอียูแพงขึ้น เนื่องจากจะมีภาษีระหว่างกัน ทำให้เป็นโอกาสของสินค้าไทยเช่นกันที่จะเข้าไปแทนที่ และควรใช้โอกาสนี้ดึงนักลงทุนอังกฤษเข้ามาลงทุนในอีอีซีของไทย

ภาคเอกชนมองดีต่อเอฟทีเอไทย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า กรณีอังกฤษแยกตัวจากอียูแบบไร้ข้อตกลง อาจส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษ และเงินปอนด์อ่อนค่าลง จะมีผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าไทยให้ชะลอตัวลงได้แต่อาจไม่มากนัก อย่างไรก็ตามอาจเป็นประโยชน์ต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหราชอาณาจักรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น การลดความเข้มงวดของมาตรการด้านสุขอนามัยในกลุ่มสินค้าอาหาร รวมถึงการจัดสรรโควตาการส่งออกใหม่หลังจากเบร็กซิทอย่างเป็นทางการ  อย่างไรก็ตามคาดว่าอังกฤษจะปรับเปลี่ยนกฎการค้าและการลงทุนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ