สมาคมประมงบุกกทม.?!!จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา IUU-สินเชื่อไม่คืบ สูญแล้ว 3 แสนล้านบาท ภาครัฐยันเป็นวาระแห่งชาติไม่ทอดทิ้ง

2076

สมาคมประมงเข้าร้องเรียน รัฐบาล ขอแก้ปัญหากฎระเบียบIUU และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่สัญญาว่าจะให้แต่ไม่คืบ  หลัง 8 เดือนสูญแล้ว 3 แสนล้านบาท ขู่ทิ้งเรือหมดประเทศ รัฐบาลแจงถือเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมแก้ไขปัญหาและรับฟังความเห็นของชาวเรือไม่ทอดทิ้ง 

นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคการทำประมงของไทยมีข้อสรุปคือ

-รัฐบาลออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ มาบังคับใช้กับชาวประมงเพื่อแก้ไขปัญหา IUU มากว่า 6 ปี ขณะนี้ ชาวประมง 22 จังหวัด ได้ยืนยันขายเรือคืนไปแล้วประมาณ 2,500 ลำ และคาดว่าทั้งประเทศจะมีการขายเรือคืนไม่ต่ำกว่า 5,000 ลำ จากเรือที่มีทั้งระบบ ประมาณ 12,000 ลำ หากกฎหมายและกฎระเบียบยังเป็นลักษณะนี้

-ผลกระทบจากสินเชื่อให้กับชาวประมงไม่มีความคืบหน้า  กล่าวคือ รัฐบาลแจ้งอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ผ่าน  ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)มีวงเงิน 5.3 พันล้านบาทแต่ผ่านไป 2-3 เดือนหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติตอนนี้เรื่องก็ยังไม่มีความคืบหน้า

สำหรับมูลค่าความเสียหายในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ชาวประมงบางส่วนไม่ได้ทำการประมงประมาณ 3,000 ลำ หรือสร้างความเสียไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ประกอบกับช่วงโควิด-19 ยังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ สร้างความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท 

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เร่งด่วน ได้แก่ 

1.เร่งปรับปรุงพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 ข้อ 

2.ขอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ 

3.ขอให้ยกเลิกกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย (ฉ1) และติดตามแรงงานภาคประมง (ฉ2) และขอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ

พร้อมขู่หากไม่มีสัญญาณตอบรับ หรือได้รับคำตอบจากรัฐบาล 7-10 วัน จะเดินทางเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล 

ภาครัฐแจงเร่งดำเนินการเต็มที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข้อเรียกร้องของสมาคมประมง  ให้มีการแก้ไขกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพประมง

เนื่องจากรัฐบาลได้ออกกฏระเบียบเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal) การประมงที่ขาดการรายงาน (Unreported ) และการประมงที่ขาดการควบคุม (Unreglulated) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า IUU ทั้งนี้ ขอเรียนให้พี่น้องชาวประมงทราบว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ปัญหาผลกระทบดังกล่าว มีการดำเนินการไปแล้วในหลายด้าน อาทิ การแก้ไขกฎระเบียบ การรับซื้อเรือที่ได้รับผลกระทบจากระเบียบใหม่ การเสริมสภาพคล่อง 

โดยพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง และรายงานความก้าวหน้าแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เรื่องการแก้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ และเน้นย้ำให้การทำงานต้องเป็นไปอย่างรอบคอบไม่เสี่ยงต่อการถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรป อีกทั้งต้องควบคู่ไปกับการรับฟังเสียงชาวประมงด้วย

ที่ผ่านมา กรมประมงได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เหมาะสมเพื่อผ่อนปรนและช่วยเหลือชาวประมง หลายเรื่องเช่น 1.การแก้ไขรายการเครื่องมือทำการประมง การแก้ไขรายการพื้นที่ทำการประมง การออกหนังสือคนประจำเรือ  2 รอบเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคนแรงงาน ส่วนการพัฒนาปรับปรุงระบบติดตามเรือให้มีประสิทธิภาพ ลดความยุ่งยากในการแจ้งเข้า-แจ้งออกของเรือประมงที่อยู่ในร่องน้ำเดียวกันอยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 3 มาตรา และประมงพาณิชย์ 15 มาตรา ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการปรับปรุงกฎหมายที่ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

สำหรับการรับซื้อเรือประมงออกนอกระบบ การดำเนินการได้แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ 

-กลุ่มระยะเร่งด่วน (เรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมง (เรือขาว-แดง)) มี 568 ลำ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ครบถ้วนแล้ว 252 ลำ และ อีก 53 ลำ จะจ่ายครบถ้วนในเดือนตุลาคมนี้ คิดเป็นเงินเยียวยารวม 764.45 ล้านบาท ที่เหลือ 263 ลำ อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ 

-ส่วนกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์นำออกนอกระบบจำนวน 2,505 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ในการนำออกนอกระบบให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำการประมงของเรือประมง ซึ่งรัฐบาลจะรับไปพิจารณาในลำดับต่อไป

เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง จะได้มีเงินทุนในการปรับปรุงเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และจ้างแรงงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทางธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ เห็นว่ามีประเด็นใดที่ไม่คืบหน้าหรือยังคงเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟัง เพื่อหาทางออกร่วมกันในแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาวประมงและภาคการประมงของประเทศ