จากที่“จตุพร” ประกาศเตรียมเดินสายคุยอดีตแกนนำ นปช.เพื่อหารือแนวทางขององค์กร โดยส่วนตัวมองว่า ควรจะยุติองค์กร นปช.ให้เป็นตำนาน ย้ำเป็นคนเดิม ทั้งยังจ่อดำเนินคดีกับนักเลงคีย์บอร์ด กรณีใส่ร้ายไปอยู่กับเผด็จการด้วยนั้น???
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการลมหายใจพีซทีวี เวทีทัศน์ส่งท้ายปี 2563 โดยมีบางช่วงที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า การต่อสู้กับเผด็จการ สู้ไปสู้มา กลายเป็นตนถูกผลักไปอยู่ร่วมกับเผด็จการ ซึ่งเป็นข้อหาที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยอ้างเรื่องเชียงใหม่ที่ไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. ดังนั้นทุกเรื่องราวเมื่อมีการโจมตีใส่ร้ายตน ตนก็ลุกขึ้นต่อสู้ตามวิถีทางที่ต่อสู้มาตลอดชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องและความดีงามทั้งหลาย
“ที่ผ่านมา ตนตั้งใจจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับใคร แต่เมื่อปล่อยไว้ยิ่งได้ใจ กล่าวหาทุกเรื่องที่เป็นความเท็จ โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่าไปอยู่กับเผด็จการ ก็ต้องไปสู้กันในชั้นศาล เพราะคนเราหากจะชั่วไปอยู่กับเผด็จการก็คงไม่มาเสียคนเอาตอนแก่ ซึ่งวิถีชีวิตของตน จากเด็กวัดไปเป็นครูดอยที่ไม่มีเงินเดือนกว่า 3 ปี ออกมาเป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬลงเวทีอย่างมือเปล่า กลับไปอยู่หอพักใช้ชีวิตเเบบเดิม และก่อนที่จะมาพรรคไทยรักไทยตนก็ไปทำงานเกี่ยวกับภาคองค์กรประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องแรงงาน เหล่านี้ปรากฎเป็นข่าวสามารถย้อนกลับไปดูได้”
นอกจากนี้ประธานนปช. ยังระบุถึงวันที่เดินลงมาสู่บนท้องถนนอย่างจริงจังหลังจากการยึดอำนาจปี 2549 จากนปก.จนกระทั่งนปช. ตนไม่เคยคิดที่จะอยากเป็นประธาน นปช.แม้แต่วันเดียว
“ตอนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภา 35 ตนก็เป็นผู้นำนักศึกษาในสถานการณ์ที่ประชาชนยกให้มานำ และก็สู้จนวินาทีสุดท้าย เป็นจุดเปลี่ยนในเหตุการณ์ขณะนั้น
เหตุการณ์คนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 52 – 53 ที่มีความตายปรากฏ เราก็อยู่ชุดของคนที่รอด ซึ่งตนอภิปรายเสมอว่าเรามีหน้าที่คือการทวงความยุติธรรมให้กับคนที่ตาย หากยังจำกันได้ว่าหลังเหตุการณ์ปี 53 กระแสคนเสื้อแดงและกระแสพรรคเพื่อไทยถึงจุดต่ำสุด เพราะถูกข้อหาเรื่องล้มล้างสถาบัน เรื่องเผาบ้านเผาเมืองและเรื่องก่อการร้าย”
อย่างไรก็ตามนายจตุพร ยังพยายามชี้แจงถึงการถูกใส่ร้ายว่า ออกมาจากคุกแล้วจะรอด เพราะไปเจรจาตกลง ซึ่งตนติดคุกรวมกัน 4 รอบ ประมาณ 19 เดือน อีกทั้งยังมีคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้ทนายความไปยื่นคำร้องขอให้ศาลนับใหม่ ศาลชั้นต้นยกส่วนศาลอุทธรณ์ให้นับไปขณะนี้รอระหว่างฎีกา
ทั้งยังมีศาลแพ่งอีก 2 คดี 2 สำนวนนี้เฉพาะดอกเบี้ยกว่า 100 ล้านบาท เรื่องเหล่านี้หลังออกจากคุกมาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นอยากถามว่าตนรอดอะไรสักเรื่องบ้าง รวมถึงคดีบ้านสี่เสาเทเวศร์ ในสำนวนที่ 2 หากใครได้ไปฟังคดีในสำนวนแรกทุกประโยคคล้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ทั้งนั้น ดังนั้นถามว่าตนไปแลกเปลี่ยนอะไรกัน
“ตนก็เป็นนายจตุพรเหมือนเดิม ร้องเพลงเดิมทุกอย่าง เพียงแต่อายุมากขึ้น ก็ต้องลดคีย์ลงมาบ้าง แต่เนื้อเพลงเหมือนเดิม ส่วนทิศทางของนปช.จะเป็นอย่างไรนั้น ตนจะเดินสายคุยกับแกนนำ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรจะยุติองค์กร นปช.ให้เป็นตำนาน ทุกอย่างที่สู้กันมานั้น ไม่มีอะไรติดยึด ทุกอย่างมันคือหัวโขน หากติดยึด มันต้องติดยึดกันมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ใช่มาติดเอาตอนแก่” นายจตุพร กล่าว
สำหรับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. มีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. มีความเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นองค์กรหลักของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยมีสัญลักษณ์หลักคือ สีแดง และเสื้อสีแดง ซึ่งในช่วงเริ่มการต่อสู้ใช้สีเหลือง ต่อมาตั้งแต่ช่วงรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เริ่มใช้สีแดง และมีการใช้เท้าตบ และหัวใจตบ เพื่อล้อเลียนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
นปก.ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 โดยรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ยุติการชุมนุมเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หลังจากพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ
หลังการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นปช.กลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 จนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเมษายน พ.ศ. 2552 ยุติการชุมนุม14 เมษายน แกนนำ 3 คน นาย วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นายแพทย์ เหวง โตจิราการ ถูกควบคุมตัว
ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 นปช.จัดชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม จนกระทั่งถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม รวมทั้งการชุมนุมช่วงปี2557 กับการรัฐประหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถูกสลายในเวลาต่อมา
ย้อนไปก่อนหน้านี้ คือวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่สถานีโทรทัศน์ดีสเตชัน ภายในห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว แกนนำโดย นายวีระกานต์ แถลงผลการประชุมแกนนำเมื่อวันที่ 7-8 กรกฎาคมที่จังหวัดกาญจนบุรี มีมติเปลี่ยนชื่อจาก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน”
ขณะที่นปช.ชุดที่วีระกานต์เป็นประธาน เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังยุติการชุมนุม 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ต่อมาพฤศจิกายนปีเดียวกัน จึงมีการตั้งคณะกรรมการนปช. ชุดรักษาการขึ้น โดยมีธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการในตำแหน่งประธาน ก่อนที่จะส่งมอบให้จตุพร พรหมพันธุ์ ในเวลาหลังจากนั้น และมาถึงวันนี้ที่จะยุติไว้ให้เป็นเพียงตำนาน 14 ปี