สนค.ชี้ส่งออก 11 เดือนฟื้นตัวช้าๆแม้มีโควิด-19!?! ยางพารา-ข้าว-มันสำปะหลังออร์เดอร์เพิ่ม คาดปีหน้าขยาย 4%

1585

สนค.ประเมินส่งออกไทย 11 เดือนปี 2563 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ เดือนพฤศจิกายนหดตัวต่ำสูดในรอบปี เกินดุลการค้า 52.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มั่นใจปี 2564 ขยายเป็นบวก 4% นอกจากนี้สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการเริ่มกลับมาเป็นบวกทั้งในส่วนของข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการส่งออกในช่วงเดือนธันวาคมจะยังคงรักษาระดับไว้ที่ 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ ร้อยละ 6.6 ซึ่งน้อยกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่า การส่งออกในปีนี้จะติดลบอยู่ที่ร้อยละ 7

23 ธ.ค. 2563 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ย.2563 มีมูลค่า 18,932.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.65% หดตัวต่ำสุดในรอบปี 2563 ที่การส่งออกเคยมีการติดลบมา ถือเป็นสัญญาณดีของการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,880.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.99% ซึ่งเห็นสัญญาณดีต่อการส่งออก เพราะมีการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น โดยเกินดุลการค้า 52.59 ล้านเหรียญสหรัฐ

การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แม้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 และเศรษฐกิจโลก มีทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือน

นอกจากนี้สอดคล้องกับหลายองค์กรระหว่างประเทศ ที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกในเดือนนี้ ปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ รวมทั้งข่าวดีเรื่องความคืบหน้าในการผลิต และ กระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่น ทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค โดยการส่งออกไทยมีภาวะการหดตัวน้อยลง ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม

ขณะที่ยอดรวมการส่งออก 11 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 211,385.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.92% การนำเข้ามีมูลค่า 187,872.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.74% เกินดุลการค้ามูลค่า 23,512.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีข่าวดีจากความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค และยังได้รับผลดีจากกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดีใน 3 กลุ่มหลัก คือ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด

 

ขณะเดียวกัน สินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ก็ส่งออกได้ดีขึ้น ลดลงแค่ 2.4% มีสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้นและลดลง โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าวที่กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป และสินค้าที่ลดลง เช่น น้ำตาลทราย อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 2.9% 

สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และสินค้าที่ลดลง เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาสิว

ทางด้านตลาดส่งออกมีการฟื้นตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยตลาดหลัก เพิ่ม 5.9% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 15.4% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.4% สหภาพยุโรป (อียู) 15 ประเทศ ลด 8.5% จากการล็อกดาวน์ในบางประเทศ ตลาดศักยภาพสูง ลด 11% โดยจีน ลด 8.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 15% CLMV ลด 13% เอเชียใต้ ลด 1.5% โดยอินเดีย ลด 1.3% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 4.2% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 23.7% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 4.9% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 20.8% แต่ตะวันออกกลาง ลด 12.1% และลาตินอเมริกา ลด 12.1%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.2563 หากส่งออกได้มูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 6.86% มูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.6% และมูลค่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบเหลือ 6.45% ถือว่าต่ำกว่าที่ประมาณการณ์เอาไว้ว่าทั้งปีจะติดลบ 7% ถือว่าประเทศไทยทำได้ดี

โดยสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ทั่วโลกรวมถึงไทยจะทำให้ส่งผลภาคการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกปี 64 อาจจะไม่ดีนัก เพราะจะทำให้การค้าไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่ยังมีปัญหาอยู่มากต่อการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านของไทย แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้ดีหลังจากมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้าได้ ซึ่งจะส่งผลให้การค้าของโลกกลับมาดีขึ้นและน่าจะทำให้การส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวกร้อยละ 4 ได้

ส่วนปี 2564 เบื้องต้นประเมินว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 4% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก แม้จะมีการล็อกดาวน์เป็นจุดๆ แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนรอบแรก วัคซีนน่าจะออกมาแล้ว แม้จะยังฉีดไม่ได้ทุกคน แต่ก็สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น ราคาน้ำมัน มีแนวโน้มฟื้นตัว หากโควิด-19 จำกัดได้ สินค้าไทยทั้งกลุ่มอาหาร ทำงานที่บ้าน และดูแลสุขภาพ ยังคงส่งออกได้ดี รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น รถยนต์ ส่วนปัจจัยที่ต้องระวัง คือ ค่าเงิน และนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออก

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่า ปีนี้การส่งออกจะติดลบไม่เกิน 7% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม และ ยังมีโอกาสติดลบไม่ถึง 7% หากมูลค่าการส่งออกในเดือนธันวาคม 2563 อยู่ในช่วง 1.8 – 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบราว 6.45 ถึง 6.8%

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้หารือกับภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออก รวมถึงการลดค่าระวางเรือ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ พร้อมขยายการเจรจาการค้าต่างๆ

ในด้านการเจรจาการค้า ได้กำชับให้เร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ที่ยังค้างอยู่ และเปิดการเจรจา FTA ใหม่ๆ เช่น ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ยูเรเซีย ไทย-เอฟต้า อาเซียน-แคนาดา ตลอดจนผลักดันการสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรรายมณฑล นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดและโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้การส่งออกของไทยในปี 64