บินไทยปรับแผนรับโควิดพ่นพิษ?!? ยื่นศาลฯเลื่อนส่งแผนฟื้นฟู 1 เดือน ตั้งเป้าดันรายได้ปีหน้า 2.5 หมื่นล้านบาท

1812

จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังโควิด-19 คลี่คลาย แต่กลับต้องมาช็อคอีกครั้ง กับการกลับมาของเชื้อโรคที่เดินทางมาเคาะประตูบ้านคนไทยผ่านแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายและไม่ได้ผ่านมาตรการป้องกันที่เหมาะสม อุตสาหกรรมการบินของไทยที่เพิ่งเริ่มโงหัว ก็กลับมาชะงักอีกครั้งเพราะโควิด-19กลับมาพ่นพิษอีกรอบ ส่งผลให้ผู้โดยสารภายในประเทศวูบ 10% การบินไทยต้องเลื่อนส่งแผนฟื้นฟู และปรับแผนลดต้นทุน-ชูนอนแอร์โร ทั้งนี้มั่นใจพร้อมขนส่งวัคซีนให้คนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และคาดดันรายได้ปี 2564 สูงสุดได้ 2.5 หมื่นล้านบาท 

วิกฤตการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกขาดทุนกว่า 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการเดินทางทั้งในและต่างประเทศที่หยุดชะงักไป ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ บมจ.การบินไทย (THAI) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

กระบวนการฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก่อนหน้านี้การบินไทยมีเป้าหมายออกจากแผนฟื้นฟูภายใน 5 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอศาลล้มละลายกลาง

ล่าสุดบินไทยต้องเลื่อนส่งแผนฟื้นฟูไปอีก 1 เดือน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท เดิมทีคาดว่าจะยื่นแผนได้ในวันที่ 2 มกราคม 2564 แต่ด้วยบริษัทจำเป็นจะต้องเจรจากับเจ้าหนี้หลายราย ทำให้บริษัทคาดว่าอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงได้ขออนุมัติจากศาลเพื่อยืดระยะเวลาการยื่นแผนออกไปเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

หลังจากนั้น บริษัทจะต้องประชุมแผนร่วมกับเจ้าหนี้เพื่อขอความเห็นชอบในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 และคาดว่าศาลจะอนุมัติแผนได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ โดยรายละเอียดของแผนจะสามารถเปิดเผยได้ภายหลังจากยื่นต่อศาลแล้ว

“การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงเจ้าหนี้และพนักงานทุกคน โดยการบินไทยมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจะพยายามเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้”

สำหรับการบินไทยก่อนหน้านี้ ปริมาณเที่ยวบินในประเทศฟื้นตัวกลับมาได้ราว 60% ของปี 2562 แต่จากการแพรระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบกับปริมาณเที่ยวบินให้ลดลงราว 10% ส่วนการบินระหว่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้า อยู่ที่ประมาณ 40 กว่าเที่ยวบินต่อสัปดาห์อยู่ในลักษณะคงที่

รายได้ของการบินไทย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จากราว 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุดรายได้ลดลงเหลือไม่ถึง 1 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งบริษัทพยายามจะรักษากระแสเงินสดเอาไว้ให้ได้มากที่สุดผ่านการลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เพื่อให้บริษัทยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ตามแผนที่บริษัทวางไว้ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานลงไปเหลือ 9.3 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2563 หรือลดลง 33% จากเดิมที่จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ราว 1.38 หมื่นล้านบาทต่อปี 

เสนอแผนตั้งเป้าหารายได้-ลดค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องสถานการณ์

นายนนท์ กลินทะ รักษาการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน ของการบินไทย เปิดเผยว่า จากแผนการฟื้นฟูของบริษัทในปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 

  1. การหารายได้เพิ่ม 
  2. การลดค่าใช้จ่าย และ 
  3. การปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยในปี 2564 

รายได้หลักของ THAI จะยังมาจากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-Flight) ขณะเดียวกัน บริษัทจะมุ่งเน้นการทำงานเพื่อให้ได้ประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนในด้านต่างๆทั้งนี้ บริษัทคาดว่าเส้นทางบินหลักของ THAI จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยปี 2563 มีเที่ยวบินไปยัง 25-35 เมือง ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 45-55 เมืองในปี 2564 และขยับไปเป็น 75-80 เมือง ในปี 2568 ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 83 เมือง 

อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้ของ THAI ในปี 2568 จะอยู่ที่ราว 1.25-1.35 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1.84 แสนล้านบาท ลดลงประมาณ 29% แต่ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าต้นทุนของบริษัทจะลดลงในอัตราที่มากกว่า อยู่ที่ 1.15-1.25 แสนล้านบาท จากปี 2562 ซึ่งมีต้นทุนที่ 1.92 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ ส่วนปี 2564 คาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ราว 1.5-2.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีนี้ซึ่งอยู่ที่ราว 3.5-4.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.5-4.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีที่ 1-1.1 แสนล้านบาท และในไตรมาส 1/64 บริษัทจะมีเที่ยวบินประมาณ 18 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สู่ 10 เมืองหลัก

สำหรับรายได้ช่วงไตรมาส 1/63 ทำได้ 8,675 ล้านบาท ส่วนช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม ทำได้ 5,204 ล้านบาท โดยคาดรายได้ทั้งปี 2563 อยู่ที่ 13,879 ล้านบาท ทั้งนี้ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ทำการปรับปรุงกระบวนการการทำงานของฝ่ายต่างๆ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตามแผนงานของบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งถ้าเป็นไปได้ตามแผนงานจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้จำนวน 4 พันล้านบาท

 ขณะที่รายได้เสริมที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มรายได้อื่น เช่น การขายปาท่องโก๋ ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาขายแฟรนไชส์ในช่วงปี 2564 เป็นต้น นอกจากนี้การบินไทย พร้อมที่จะให้บริการขนส่งวัคซีน โดยเชื่อว่ามีความพร้อมทั้งการให้บริการและพันธมิตรด้านโลจิสติกส์