จากกรณีที่นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เปิดเผย ระบุว่า กรมควบคุมโรค ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาคร
เปิดเผยถึงความคืบหน้าของผลการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มแรกจากตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 8 ราย ให้การรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร จำนวน 5 ราย และโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ จำนวน 3 ราย ผลการรักษาอาการดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 95 ปี ที่มีภาวะติดเตียงนั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรค เผยข่าวดี อาการล่าสุดของผู้ป่วยกลุ่มแรกจากตลาดกลางกุ้ง
ขณะที่ทางด้านนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ ถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการ Swab ไปแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 12,962 คน นำเข้าสู่การตรวจหาเชื้อในห้องแล็บแล้วจำนวน 6,787 คน คิดเป็น 52.36 % ทราบผลตรวจที่เป็นผู้ติดเชื้อแล้วรวมจำนวน 1,273 คน คิดเป็น 18.75% เป็นคนไทยรวม 56 คน (4.39%) และแรงงานพม่ารวม 1,217 คน (95.60%)
ยังคงรอผลตรวจอีกรวม 6,175 คน คิดเป็น 47.63 % ซึ่งถ้าเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อเมื่อวานนี้รวมจำนวน 1,260 คน วันนี้ตามเวลาดังกล่าวมียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,300 คน
ภาพรวมสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อดีขึ้นจากเดิม 22.37 % ลดลงเหลือ 18.75 % เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้ก็ยังยืนยันไม่ได้ชัดเจนมากนัก แต่ก็เป็นตัวบ่งบอกได้ว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว เห็นแสงจากปลายอุโมงค์แล้ว โดยเป็นผลมากจากการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย
ดังนั้นทางจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีการปรับแผนเพื่อให้การตรวจหาเชื้อโควิด 19 เบื้องต้นนี้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทราบผลตรวจเร็วและคลอบคลุมกลุ่มคนได้มากขึ้นทั้งคนไทยกลุ่มเสี่ยงและคนต่างด้าว
โดยจะเปลี่ยนจากวิธีการตรวจหาเชื้อในสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก Swab มาเป็นการตรวจด้วยวิธี Rapid Test หรือการตรวจหาเชื้อจากการเจาะเลือดแทน ซึ่งจะทำให้ทราบผลภายใน 30 นาที หากใครไม่พบเชื้อก็ไม่ต้องตรวจซ้ำอีก
รถที่ตรวจนั้นก็จะยังคงเป็นรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน จำนวน 6 คัน และรถเก็บตัวอย่างที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครอีก พร้อมกันนี้ยังจะได้ปรับแผนการตรวจเพิ่มขึ้นคือ การลงพื้นที่แต่ละครั้งแต่ละจุดนั้น จะจัดให้มีการแยกรถตรวจสำหรับคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ออกจากคนต่างด้าวเพื่อให้ได้ตรวจพร้อมกันอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันกับการควบคุมโรคระบาด
หลังจากที่เริ่มให้บริการแล้วนั้น ก็พบว่ามีผู้ป่วยมาเข้ารับบริการกันอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ และเพื่อเป็นการควบคุมการเกิดโรคโควิด-19 ซ้ำในพื้นที่จากกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในตลาดกลางกุ้ง ก็ต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส
เห็นว่าน่าจะมีแนวทางในการดำเนินการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีการรวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นในตลาดกลางกุ้งประมาณ 1,250 ครอบครัว หรือจำนวนประชากรประมาณ 2,800 คน ให้คนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 อย่างครอบคลุมจะได้ไม่เป็นโรคนี้และไม่เป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้อีก
ส่วนทางด้านของโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่จำนวน 100 เตียง ตามแผนที่ทางจังหวัดได้จัดเตรียมไว้นั้น ปรากฎว่าพบปัญหาบางประการเกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจากกับบุคคลในพื้นที่ หากการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี ก็จะสามารถดำเนินการนำเตียงสนามที่ได้มาจากทางทหารจำนวนรวมทั้งหมด 480 เตียง เข้าเตรียมความพร้อมได้ทันที
ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊กของ ชมรมกัลยาณธรรม Kanlayanatam ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากที่ได้เรียนเชิญ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้เรื่องโควิด-19 ระบุว่า
เมื่อวานเรียนเชิญ “คุณหมอยง ภู่วรวรรณ” คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา มาให้ความรู้และคำปรึกษาอีกครั้ง หลังจากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาคร มีหลายประเด็นที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้..
-การแพร่ระบาดที่สมุทรสาครต้องใช้เวลายาวเท่าไหร่ ในการจัดการควบคุมจนกว่าเหตุการณ์จะค่อยๆกลับไปเป็นปกติ? ตอนนี้ก็คล้ายๆกับช่วงโควิด-19ระบาดใหม่ ๆ ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนนั้นใช้เวลา 2 เดือนในการควบคุม ครั้งนี้คิดว่าอย่างน้อยก็ต้อง 2 เดือนเช่นกัน
– จังหวัดที่น่าเป็นห่วงมีที่ไหนอีกมั้ยนอกจากสมุทรสาคร? การแพร่ระบาดส่วนใหญ่จะเริ่มแพร่ในเมืองหลวงก่อน แล้วค่อยกระจายออกต่างจังหวัด ตอนนี้ก็พยายามกันอย่างมาก เพื่อไม่ให้ระบาดในกรุงเทพ และอีกจังหวัดที่น่าเป็นห่วง คือ ‘จังหวัดระนอง’ หลังจากนี้หน้ามรสุม จะค่อย ๆ หมด เรือประมง จะเริ่มออกได้มากขึ้น และไปเจอเรือประมงพม่า จังหวัดระนองเป็นจังหวัดที่ค้าขายอาหารทะเล กับพม่าเยอะอีกด้วย มีรถที่ข้ามแดนกันไป ๆ มา ๆ
-อาหารทะเลจากสมุทรสาครสามารถรับประทานได้มั้ย? … สามารถรับประทานได้ หากนำมา ‘ปรุงสุก’ อย่างที่รู้กันว่า ‘เชื้อโควิด-19 ตายหมดหากผ่านความร้อน’ ที่จุดเดือด 100 องศา หรือในความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่านั้น แต่ในระยะเวลาที่มากพอ (ยกตัวอย่างเช่นที่ 56 องศาเป็นระยะเวลา 30 นาที)
– แพคเกจจิ้งสามารถปนเปื้อนได้มั้ย? … ปนเปื้อนได้ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์ ก่อนนำจัดเก็บในตู้เย็น
– สัมผัสวัตถุดิบสดจากสมุทรสาครได้มั้ย? … ควรทำความสะอาดมือทุกครั้ง หลังสัมผัสวัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านความร้อน เพราะเชื้อโควิด-19 อยู่ในที่เปียกเย็นได้ยาวนาน ห้ามนำมือที่สัมผัสวัตถุดิบสดจับหน้า~ขยี้ตา~จับจมูก .. ย้ำในขั้นตอนให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังสัมผัส
– เลือกซื้ออาหารทะเลยังไง? … กุ้งที่แช่ในน้ำแข็งแล้วใช้มือจับเลือก ควรงด!! ให้เลือกกุ้งแช่แข็งที่แพคมาแล้ว แล้วทำความสะอาดแพคเกจจิ้งพร้อมปฏิบัติตามขั้นตอนการปรุงอาหารให้ถูกสุขอนามัย
– วัคซีนจะมาเมื่อไหร่? … เร็วสุดคาดว่าเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 26 ล้านโดสของ Oxford AstraZeneca ซึ่งจะถูกกระจายไปให้กลุ่มเสี่ยงสูง (อายุ60+) และคนทำงานในสถานที่เสี่ยง เช่นเเพทย์ พยาบาล ประชาชนทั่วไปต้องรอลอทถัดๆไป กว่าจะcontainโรคได้จริงอาจต้องใช้เวลาอีก 2 ปี
– ต้องฉีดวัคซีนเท่าไหร่ … โรคถึงจะค่อยๆหายไป? 60% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยเท่ากับ 40 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีน 80 ล้านโดส (คนละ 2 โดส)
– จะมี Lock Down อีกมั้ย? … Total lock down ทั้งประเทศ คาดว่า.. คงไม่มี แต่อาจมีการล็อคดาวน์เป็นบางพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาดสูงเพื่อควบคุมโรคและไม่ให้แพร่ไปที่อื่น
– ตอนนี้มีเคสผู้ติดเชื้อโผล่จังหวัดนู้นทีจังหวัดนี้ที จะเป็นแบบนี้อีกนานหรือไม่ และมีอะไรที่น่ากังวลมั้ย? … คงจะเป็นแบบนี้ไปอีกซักพัก ประมาน 1-2 เดือน ตอนนี้เคสต่างๆเราตามกลับไปได้ว่ามาจากสมุทรสาคร แต่หลังจากนี้คงจะเริ่มมีเคสที่หาต้นตอไม่ได้ แต่หากเราควบคุมรอบวงของผู้ติดเชื้อได้ความกังวลก็จะลดน้อยลง
– เราไปที่ไหนได้บ้าง ไม่ควรไปที่ไหนบ้าง? … ในตอนนี้หากไม่ใช่พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักเช่น สมุทรสาครก็ยังสามารถไปได้ แต่ควร ‘หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก’ (50 คนถือว่าเยอะมากแล้ว) และสถานที่ที่แออัดและไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเช่น ผับ บาร์
– โควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในกลุ่มเมียนมาตอนนี้ … เป็นสายพันธุ์ GH ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ติดง่ายกว่ามาก แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นและไม่ได้มีผลกับวัคซีน วัคซีนยังคงครอบคลุมอยู่
– โรงงาน หรือ บริษัทที่ต้องใช้แรงงานพม่าต้องทำอย่างไร? … หากมีชาวพม่าทำงานอยู่ด้วย ควรตรวจทั้งหมด เพื่อให้เคลียร์ว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 อยู่ในระบบ และทำมาตรการควบคุมหรือขอความร่วมมือให้ลูกจ้างชาวพม่าไม่ไปรวมตัวหรือเจอญาติพี่น้องที่มาจากที่อื่นจนกว่าจะคุมสถานการณ์อยู่ และควรสุ่มตรวจทุก 2 อาทิตย์เพื่อเช็คว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
– พี่เลี้ยงลูกเป็นพม่าทำยังไงดี? … ขอความร่วมมืองดออกจากบ้าน ไปเจอเพื่อนญาติพี่น้องในช่วงเวลาแบบนี้ก่อน เพราะมีความเสี่ยงสูงมาก
-Cluster ลูกจ้างพม่าคงไม่มียอดเสียชีวิตที่สูง … เพราะส่วนใหญ่อายุยังน้อยเป็นวัยทำงาน ซึ่งจากสถิติเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของกลุ่มนี้ต่ำมาก น้อยกว่า 0.5% แต่ต้อง contain ให้ดีเพื่อไม่ให้แพร่มาติดผู้สูงอายุ
– เดินทางโดยเครื่องบินได้มั้ย?… ได้! แต่ต้องมีสติ และ ปฏิบัติตามสูตรสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ก่อนขึ้นเครื่องล้างมือ ขยับหน้ากากอนามัย ให้พอดีหน้า (เพราะขึ้นไปเราจะไม่จับแล้ว) ไม่เข้าห้องน้ำบนเครื่อง ไม่พูดคุย ไม่กินอาหารบนเครื่อง (เสี่ยงเปิดหน้ากากออกมา) หากจำเป็นต้องจับหน้าให้ล้างแอลกอฮอล์ก่อนจับบริเวนหน้าทุกครั้ง ลงเครื่องให้ล้างมือทันที
– คุณหมอย้ำมากๆกับการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา … เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไวรัสได้ดีที่สุด จะหน้ากากการแพทย์หรทอหน้ากากผ้าป้องกันได้หมด ส่วนเฟสชีลนี่แทบไม่ช่วยเลย เพราะฝอยละอองสะพัดไปทั่ว รอดเข้าไปได้ง่ายๆ ถ้าต้องไปในที่เสี่ยงใส่หน้ากากอนามัยพร้อม goggle คือ ดีที่สุด
– สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราทำได้ คือ ‘ไม่ต้องไปโทษว่าใครเป็นต้นตอ’ ของการแพร่ระบาด ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ‘ให้เราโฟกัสที่ตัวเอง’ ว่าเรามีวินัย ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารปรุงสุก ไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง .. ช่วยกันคนละแค่นี้ ก็ลดงานลดภาระของคนที่ต้องมาดูแลเราหากติดขึ้นมาได้แล้ว