ส่องวัคซีนต้านโควิด-19โลก?!? ไฟเซอร์-แอสตราเซเนกาไทยสั่งซื้อ ฉีดแล้วในส่วนหนึ่งของ 2.1 ล้านคน 6 ประเทศ

1706

ดูความคืบหน้าวัคซีนโลกและตัวที่ไทยได้จองไว้ เริ่มจากวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอออนเท็ค มีผลต่อผู้มีประวัติแพ้ยา อาหารและภูมิแพ้ ว้คซีน ม.ออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา มีผลข้างเคียงน้อย ขนส่งง่าย สำหรับวัคซีน Sputnik V ของรัสเซียฉีดให้ประชาชนรัสเซียแล้ว และได้รับการจดทะเบียนอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในอาร์เจนตินา วัคซีนจีนฉีดในประชาชนแล้ว และส่งไปยังหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก ส่วนไทยจองของม.ออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนก้า และวัคซีนโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลกคาดจะได้ใช้กลางปีหน้า  แต่ถึงแม้มีวัคซีนเราอาจต้องอยู่กับโควิดอีกนาน เพราะปัจจุบันยังติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งไม่หยุดทั่วโลก ไทยก็เพิ่งเจอการระบาดใหม่ที่ไม่คาดคิด รัฐบาลและคนไทยต้องตั้งการ์ดสูงไว้ สวมหน้ากาก พกเจลล้างมือ และรักษาระห่างอย่างเคร่งครัด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประชาชนกว่า 2.1 ล้านคนใน 6 ประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ล็อตแรกแล้ว ซึ่งนับเป็นการเริ่มโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านการขนส่งครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วย

มาส่องความคืบหน้าวัคซีนโลกและตัวที่ไทยได้จองไว้

เริ่มที่สหรัฐอเมริกา มีวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเท็คและโมเดอร์นา

โมเดอร์นา อิงค์ ยืนยันประสิทธิภาพที่ 94.5% ส่วนไฟเซอร์ อิงค์ และไบโอเอ็นเทค ได้ยืนยันประสิทธิภาพอยู่ที่ระดับ 95%

ทั้งนี้ นพ.มอนเซฟ สลาอุย หัวหน้าที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของโครงการโอเปอเรชั่น วาร์ป สปีด (Operation Warp Speed) ของสหรัฐอเมริกา ออกมาเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 70 จากทั้งหมด 330 ล้านคนจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในคนหมู่มากตามเป้าหมายของรัฐบาลภายในเดือนพฤษภาคมปี 2021 โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐหรือเอฟดีเอ (FDA) ได้อนุมัติฉุกเฉินและเริ่มฉีดในสหรัฐแล้ว ตั้งแต่ว้นที่ 11 ธ.ค.2563 ถือเป็นโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ทั้งยังระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะถูกจัดส่งไปรัฐต่างๆที่ต้องการวัคซีนภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่านการอนุมัติ ตลอดระยะเวลาการฉีดวัคซีนให้ประชาชน พบมีผู้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง 3 คนอาการคล้าย ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ที่สหราชอาณาจักร 2 คน

อังกฤษฉีดวัคซีนโควิด-19เข็มแรกของโลก

ประเทศอังกฤษ กลายเป็นชาติแรกของโลก ที่อนุมัติการฉีดวัคซีนให้กับมนุษย์ นอกเหนือยจากการฉีดเพื่อการทดลอง โดยเริ่มฉีดเข็มแรกในวันที่  8 ธ.ค. 63  ให้กับคุณยาย มาร์กาเร็ต คีแนน ชาวอังกฤษวัย 90 ปี ถือเป็นคนแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และไบออนเทค จากนั้น ทยอยฉีดให้กับชายสูงวัยอายุ 80 ปี และกลุ่มเสี่ยงตามมา อย่างไรก็ตาม มีรายงาน ผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด 2 รายสำหรับกลุ่มคนที่มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง แต่ยังไม่พบความผิดปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ การเดินหน้าฉีดวัคซีนในอังกฤษยังคงดำเนินการต่อไป 

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยผลการทดลองในเฟส 1 และ 2 ประสบผลสำเร็จ ที่ชื่อว่า วัคซีน AZD1222 หรือ “ChAdOx1 nCoV-19” ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 1,077 ราย พบว่า อาสาสมัครสามารถสร้างแอนติบอดี และเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สามารถต่อสู้กับโควิด เกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยซึ่งสามารถลดลงได้โดยการใช้ยาพาราเซตามอล และไม่มีอาการร้ายแรงจากการทดลอง ล่าสุดผลทดลองในเบื้องต้นพบว่า วัคซีนวิจัย AZD1222 มีประสิทธิผลเกินข้อกำหนดของ WHO โดยการให้วัคซีนแบบแรก คือ 

-การให้แบบแรก โดยฉีดครึ่งโดสแล้วฉีดตามด้วยอีก 1 โดสหลังจากฉีดครั้งแรก 1 เดือน พบว่า ประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 สูงถึง 90%

-การให้วัคซีนแบบที่สอง คือ การฉีดวัคซีน 1 โดสแล้วฉีดตามอีก 1 โดสหลังจากฉีดครั้งแรก 1 เดือน พบว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ 62%

ข้อที่เป็นจุดเด่นของวัคซีนชนิดนี้ คือ วัคซีนสามารถจัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในระบบปกติของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

รัสเซียมีวัคซีนต้านโควิด-สปุทนิคไฟว์

สำนักข่าวเดอะมอสโควไทมส์ รายงานเมื่อ 24 ธ.ค.63 เป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่จดทะเบียนวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย หลังจากเริ่มลำเลียงวัคซีนชุดแรกจำนวน 300,000 โดส และอีกจำนวน 25 ล้านโดสใน 24 ธ.ค.63 ทั้งนี้ อาร์เจนตินาเจรจาขออนุมัติใช้วัคซีนจากหลากหลายแหล่ง โดยได้เจรจาขออนุมัติใช้วัคซีนของบริษัท Pfizer/BioNTech และลงนามในข้อตกลงเพื่อรับวัคซีนของ Oxford/AstraZeneca รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวัคซีน Covax ขององค์การอนามัยโลก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อาร์เจนตินาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในประเทศในวันที่ 3 มี.ค. และ ณ วันพุธที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ยอดรวมผู้ติดเชื้อในอาร์เจนตินาอยู่ที่ 1,563,865 รายและยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 42,314 ราย

จีน-นำร่องด้วยวัคซีนชิโนฟาร์มและ ซิโนแวค ไบโอเทค 

จีน จดสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ฉบับแรกก่อนใครให้กับ บริษัท แคนชิโน ไบโอโลจิคส์ อิงค์ ร่วมกับสถาบันวิทยาการทหาร พัฒนาวัคซีนที่มีชื่อว่า Ad5-nCOV เป็นการพัฒนาวัคซีนโควิดจากการตัดต่อสารพันธุกรรม หรือไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector vaccine) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

ปัจจุบันจีนมีวัคซีนต้านโควิด-19 ต้นแบบ 4 ตัว ที่ทางการจีนอนุมัติให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินกับบุคลากรที่จำเป็น และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง วัคซีนต้านโควิด-19 จากจีน เป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคที่ตายแล้ว เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยไม่มีความเสี่ยงต่อโรค ซึ่งเป็นวิธีการผลิตวัคซีนของหลายๆ โรคมาตั้งแต่ดั้งเดิม

โครงการ COVAX ขององค์การอนาม้ยโลก จะใช้กลไกการจัดซื้อร่วมกันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และใช้กรอบการจัดสรรวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ภายใต้กลไกนี้ โครงการ COVAX จะรวบรวมกำลังซื้อจากประเทศที่เข้าร่วมและให้การรับประกันปริมาณการสั่งซื้อจากกลุ่มวิจัยวัคซีนที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ ก่อนจะเปิดทางให้ผู้ผลิตวัคซีนที่มีความเชี่ยวชาญ ขยายการผลิตจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนด้านการผลิตวัคซีนในช่วงต้นจะมีความเสี่ยง แต่ก็ทำให้ประเทศที่เข้าร่วมมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาสำเร็จแล้วได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยจองของนอกไว้แล้วคาดได้ใช้กลางปี 2564 

โดยประเทศไทยวางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศภายในปี พ.ศ.2564 โดยรัฐบาลได้มีข้อตกลงในการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส จากโครงการโคแวกซ์ (โครงการพัฒนาวัคซีนจากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก) ทั้งนี้ ไทยได้มีการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของ AstraZeneca และ Oxford University ที่ชื่อ AZD1222 ไว้อีก 26 ล้านโดส รวมถึงจัดหาจากผู้ผลิตอื่น ๆ อีก 13 ล้านโดส

รัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี ได้ร่วมมือในการผลิตวัคซีนวัคซีน AZD1222 กับทางแอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด วางแผนจะผลิตจำนวนมากโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา ขณะนี้ได้สั่งจองล่วงหน้ากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นตัวแทนจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า และมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการจัดทำสัญญาซื้อวัคซีนจากการจองดังกล่าว ครั้งนี้ จะเป็นการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมาย 13 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2564