จากที่ปรากฏคำพิพากษาของศาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับ สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โดยคดีเกิดขึ้นเมื่อครั้งเป็นประธานบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ฐานให้สินบนเพื่อแลกกับสิทธิในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย่านชิดลมนั้น
ล่าสุดวันนี้(9 ธ.ค.63) นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงคดีดังกล่าวด้วยว่า
นักกฎหมายท่านหนึ่งไปพูดในรายการโทรทัศน์ว่า นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกหลอก คดีจบแล้ว ไม่อาจรื้อฟื้นได้ ข้อเท็จจริงที่ยุติในคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อท 76/2562 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 228/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตอนหนึ่งว่า
ต่อมานายสกุลธรได้จ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองรวม 3 งวด เป็นเงิน 20 ล้านบาท เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกันไปติดต่อประสานงานและให้นำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย
เพื่อจูงใจรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้กระทำในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าระยะยาว
โดยไม่ต้องผ่านการประมูลตามขั้นตอนตามปกติของการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันเป็นคุณแก่บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เสียหาย
ข้อเท็จจริงที่ว่า นายสกุลธรให้จำเลยทั้งสองนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย ฯลฯ
ย่อมแสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า นายสกุลธรมีเจตนาต้องการกระทำด้วยความสมัครใจของตนเอง ไม่ใช่เรื่องถูกหลอกแต่อย่างใดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๙ สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
……..(๑) โดยความตายของผู้กระทําผิด
……..(๒) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคําร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
……..(๓) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗
……..(๔) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
……..(๕) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทําผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
……..(๖) เมื่อคดีขาดอายุความ
……..(๗) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
กรณีของนายสกุลธรไม่เข้าข่ายคดีระงับตามมาตรา ๓๙ คดีจึงยังไม่จบ พนักงานสอบสวนจึงยังทำการสอบสวนได้และเมื่อทำการสอบสวนเสร็จถ้าเห็นว่า นายสกุลธรกระทำผิด ก็ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลได้ กรณีของนายสกุลธรไม่ใช่เรื่องการรื้อฟื้นคดี เพราะยังไม่ถูกฟ้องคดีและศาลยังไม่มีคำพิพากษา
ที่มา : เฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng