จากกรณีที่ กลุ่มไทยภักดี ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ
โดย ล่าสุด วันนี้ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี พร้อมทีมงาน เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีล้มล้างการปกครอง ด้วยการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเป็นการใช้สิทธิ์ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ เปิดเผยว่า เนื่องจากได้มีผู้ที่กระทำการส่อเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเราในนามกลุ่มไทยภักดี ได้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตามหลักของรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 49 เราต้องยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดก่อนแล้วรอ 15 วัน ซึ่งบัดนี้ได้ผ่าน 15 วันมาแล้ว โดยทางอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต่อ เราจึงใช้สิทธิ์นี้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุผลในการยื่นมีอยู่ 4 ข้อ
1. การที่เรากล่าวหาว่ามีการล้มล้างการปกครองก็เพราะว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใช้สิทธิ์ตามมาตรา 256 และได้มีการแก้ไขให้การแก้รัฐธรรมนูญนั้นง่ายขึ้น โดยปกติแล้วรัฐธรรมนูญปี 60 ได้กำหนดสัดส่วนการลงมติ ด้วยส.ว. และ ส.ส. แต่การแก้ครั้งนี้ได้ตัดสิทธิ์ของ ส.ว. และ ส.ส. ตามสัดส่วนออก มันจึงทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกรัฐสภา และมีการยกเลิกการทำประชามติในมาตราสำคัญ ๆ จึงทำให้ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป ผมถือว่าการตัดสิทธิ์เหล่านี้เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง
2. การร่างครั้งนี้ เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งการร่างใหม่ทั้งฉบับ รวมทั้ง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับต้องถูกยกเลิก นั่นหมายความว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องถูกยกเลิก ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็ต้องถูกยกเลิก วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกยกเลิก กระทบต่อโครงสร้างระบบการเมืองการปกครอง คดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งที่พิจารณาไปแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณา หลุดพ้นความผิด เพราะข้ออ้างกฎหมายที่ใช้บังคับถูกยกเลิก
3. บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก้ไขได้รายมาตรา การจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างฉบับใหม่ ไม่มีการกำหนดไว้ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงมีเจตนาที่ขัดบทบัญญัติของกฎหมาย
4. โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติจากประชาชน และศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องให้มีประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและมีคำสั่ง
1. ประธานรัฐสภาระงับการบรรจุระเบียบวาระ การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสองและสาม
2. ขอให้ผู้ถูกร้อง คือ ส.ส. ที่ลงชื่อร่างฝ่ายค้านและร่างฝ่ายรัฐบาล ถอนระเบียบวาระออกจากที่ประชุมรัฐสภา
3. ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติในขั้นรับหลักการ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่มีมติรับหลักการทั้งสองฉบับ